คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ
1. กำหนดให้ผู้พิพากษาย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มกัน
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 คน ซึ่งเลือกจากข้าราชการตุลาการในศาลฎีกา จำนวน 6 คน ศาลชั้นอุทธรณ์ จำนวน 4 คน และศาลชั้นต้น จำนวน 2 คน และกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน ซึ่งเลือกจากบุคคลที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
3. กำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้มีคำสั่งให้เลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด
4. กำหนดให้กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ได้แก่ ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลทหาร ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการการเมือง เป็นต้น
5. กำหนดให้กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเข้ารับหน้าที่ โดยให้ประธานศาลฎีกาดำเนินการให้มีการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561--