การประกาศใช้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday February 27, 2018 17:07 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การประกาศใช้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการประกาศใช้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ศร. รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้

1. มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์

1.1 ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย

1.2 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

1.3 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

1.4 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

1.5 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับทรัพย์สิน ของขวัญของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้

2. มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก

2.1 ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม

2.2 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี

2.3 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม

2.4 รักษาไว้ซึ่งความลับ รวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุม และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด

2.5 ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงโดยไม่บิดเบือน

2.6 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กร

2.7 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ไม่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลในครอบครัวหรือที่อยู่ในกำกับดูแลของตน เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน

2.8 ไม่คบหาสมาคมกับผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

2.9 ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ

3. จริยธรรมทั่วไป

3.1 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้

3.2 อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการ

3.3 ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติ

3.4 ดูแลรักษาและใช้ทรัพยสินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า

3.5 รักษาความลับของทางราชการตามกฎหมาย

3.6 ปฏิบัติ กำกับดูแลหรือบังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ให้เป็นไปตามกฏหมายระเบียบ และระบบคุณธรรม

4. การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

4.1 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรง ของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น

4.2 การดำเนินการแก่บุคคลตามข้อ 3 (ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี) ว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ