คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ฉบับปี ค.ศ. 2018-2021 [The Kingdom of Thailand, Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) Country Programming Framework (CPF) 2018-2021] และกิจกรรมหรือโครงการ ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างกรอบความร่วมมือ CPF ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม ให้ กษ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. เห็นชอบให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ลงนามกรอบความร่วมมือ CPF ฉบับ ปี ค.ศ. 2018-2021 ร่วมกับผู้แทน FAO
1. FAO เป็นองค์การชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการบริโภคอาหารและมาตรฐานการครองชีพของประชากรในโลกให้ดีขึ้นด้วยความพยายามทุกวิถีทางที่จะพิชิตความยากจน ให้โลกปราศจากความหิวโหยและทุพโภชนาการ รวมถึงการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรโลกโดยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก ผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามความต้องการของผู้ให้ คือ FAO มากกว่าที่จะคำนึงถึงความต้องการของประเทศสมาชิก ดังนั้น ในปี 2548 FAO ได้ริเริ่มให้มีการจัดทำกรอบการดำเนินงานระยะปานกลางระหว่างประเทศสมาชิกกับ FAO โดยใช้ชื่อว่า National Medium Term Priority Framework : NMTPF เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานความร่วมมือของ FAO เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประเทศสมาชิก โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่เริ่มจัดทำกรอบการดำเนินงานดังกล่าวกับ FAO
2. กษ. ร่วมกับ FAO ประจำประเทศไทย จัดการประชุมหารือระดมความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันยกร่างกรอบความร่วมมือระหว่างไทยและ FAO ฉบับปี ค.ศ. 2018-2021 โดยแนวทางการจัดลำดับความสำคัญสูงของความร่วมมือในกรอบความร่วมมือ CPF ฉบับปี ค.ศ. 2018-2021 จะต้องสอดคล้องกับบริบท/แผนพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) กรอบหุ้นส่วนความร่วมมือไทย – สหประชาชาติ (UN-Thailand Partnership Framework : UNPAF) (2017-2021) เพื่อเสนอให้ฝ่าย FAO พิจารณา โดยประเด็นสำคัญสูงของรัฐบาลไทยภายใต้กรอบความร่วมมือ CPF มี 4 ข้อ ดังนี้ ข้อที่ 1 ความปลอดภัยและมาตรฐานอาหารได้รับการปรับปรุงเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคและเพื่อส่งเสริมการค้า ข้อที่ 2 สนับสนุนและเพิ่มโอกาสของการจัดการห่วงโซ่คุณค่าการผลิตสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างครอบคลุม ข้อที่ 3 ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561--