1. เห็นชอบการลงนามในกรอบข้อตกลงการดำเนินงาน (Framework Agreement) ระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย พ.ศ. 2561 - 2563
2. เห็นชอบเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทกับกองทุนโลกฯ โดยวิธีอนุญาโตตุลาการที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยใช้ภาษาอังกฤษ ตามกฎเกณฑ์ของอนุญาโตตุลาการของกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL Arbitration Rules)
3. มอบหมายให้ สธ. เป็นคู่สัญญาแทนรัฐบาลไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงนามในกรอบข้อตกลงการดำเนินงานในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย
4. มอบให้ สธ. โดยกรมควบคุมโรคลงนามในเอกสารยืนยันการรับทุน (Grant Confirmation) กับกองทุนโลกฯ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกองทุนโลกฯ ในแต่ละรอบการให้ทุนของกองทุนโลก
ทั้งนี้ ให้ สธ. รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย รวมทั้ง ให้ สธ. หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการให้เอกสิทธิและความคุ้มกัน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกับกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย หรือองค์กรที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคตตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
สธ. รายงานว่า การลงนามในกรอบข้อตกลงการดำเนินงานกับกองทุนโลกฯ ในครั้งนี้ มีความจำเป็นต้องเป็นการลงนามในนามของรัฐบาลไทย เนื่องจากกรอบข้อตกลงดังกล่าวจะใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนโลกฯ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งมีเงื่อนไขในการรับทุนจากกองทุนโลกฯ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของ สธ. ซึ่งต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
1) การให้เอกสิทธิและความคุ้มกัน (Privileges and Immunities)
2) การระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ และ
3) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561--