คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
1. เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงเห็นควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (9 มกราคม 2561)
2. กค. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการในเรื่องนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 แล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะมีผลกระทบ ดังนี้
2.1 เป็นการส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
2.2 คาดว่ามาตรการในเรื่องนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวน 1.5 เท่าของค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
2. กำหนดให้กรณีที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหลายแห่งในเวลาเดียวกัน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าทำงานก่อนได้รับสิทธิหักรายจ่ายได้เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายข้างต้น
3. การจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐข้างต้น ไม่รวมถึงการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างในแต่ละเดือนเกินกว่า 15,000 บาท หรือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเงินได้พึงประเมินที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรเกินกว่า 100,000 บาท ในปีภาษีที่แล้วมา
4. กำหนดให้ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2562
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2561--