เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2559 ตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. ตามที่ได้มีกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2559 โดยข้อ 9 (4) และ (5) แห่งกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ในกรณีสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงป่วยหรือตาย ผู้รับใบอนุญาตต้องนำสัตว์น้ำหรือซากของสัตว์น้ำขึ้นมากำจัดบนบกอย่างถูกสุขลักษณะ และในกรณีเป็นกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ผู้รับใบอนุญาตต้องป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงหลุดออกนอกที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ
2. โดยที่การปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวประสบปัญหา เป็นเหตุให้ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 9 (4) และ (5) ได้ เนื่องจากหอยทะเลมีขนาดเล็กและไม่ลอยน้ำ ทำให้ไม่สามารถนำหอยทะเลหรือซากของหอยทะเลขึ้นมากำจัดบนบกอย่างถูกสุขลักษณะได้ รวมทั้งหากมีการสืบพันธุ์โดยธรรมชาติ ลูกหอยทะเลจะลอยไปตามกระแสน้ำเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการยึดเกาะ ซึ่งไม่สามารถป้องกันมิให้หอยทะเลหลุดออกนอกพื้นที่เพาะเลี้ยงได้เช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าวโดยสมควรยกเว้นให้ผู้รับใบอนุญาตทำการเพาะเลี้ยงหอยทะเลไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 9 (4) และ (5) แห่งกฎกระทรวงดังกล่าวได้
3. กษ. ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดกิจการการเพาะเลี้ยงหอยทะเลเป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา 76 มาตรา 78 และมาตรา 79 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2559
แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2559 โดยเพิ่มเงื่อนไขที่ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามชนิดของสัตว์น้ำ ดังนี้
ข้อ 9 ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ต้องติดตั้งโคมไฟหรือเครื่องหมายบริเวณที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ชัดเจน
ฯลฯ
(4) กรณีสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงป่วยหรือตายต้องนำสัตว์น้ำหรือซากของสัตว์น้ำขึ้นมากำจัดบนบกอย่างถูกสุขลักษณะ
(5) กรณีเป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา 76 ต้องป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงหลุดออกนอกที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ
ฯลฯ
ให้ยกเลิกความในข้อ 9 (4) และ (5) ของกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(4) กรณีสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงป่วยหรือตายต้องนำสัตว์น้ำหรือซากสัตว์น้ำขึ้นมากำจัดบนบกอย่างถูกสุขลักษณะ (ยกเว้นหอยทะเล)(5) กรณีเป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา 76 ต้องป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงหลุดออกนอกที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ (ยกเว้นหอยทะเล)”
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2561--