คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างแผนการปฏิรูประเทศทั้ง 11 ด้าน
2. เห็นชอบความเห็นของ สศช. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามร่างแผนปฏิรูปประเทศพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ให้เพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้รวมถึงการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศผ่านการสื่อสารทุกช่องทางเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนในทุกภาคส่วนและหน่วยงานรัฐที่จะต้องนำไปปฏิบัติ รวมทั้งมีช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและทั่วถึงด้วย
ให้ สศช. เร่งดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งเน้นให้กลไกและวิธีการประเมินสามารถประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของหน่วยงานมากจนเกินไป และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์เพื่อถือปฏิบัติต่อไป
สศช. รายงานว่า สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และเป้าหมายและการดำเนินงานของร่างแผนการปฏิรูป 11 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการเมือง 2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3) ด้านกฎหมาย 4) ด้านกระบวนการยุติธรรม 5) ด้านเศรษฐกิจ 6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7) ด้านสาธารณสุข 8) ด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 9) ด้านสังคม 10) ด้านพลังงาน และ 11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ได้ดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบแล้วเสร็จ รวมถึงได้สอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาแล้ว
1) การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ การส่งเสริมการประกอบอาชีพ และการปรับปรุงกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านการดำเนินการตามแผนปฏิรูป 4 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และสาธารณสุข
2) การพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และเชื่อมโยงการผลิตของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค
3) การสร้างสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง มุ่งเน้นให้คนในชุมชนทุกกลุ่มมีความมั่นคงด้านอาชีพ และรายได้ รวมทั้งมีหลักประกันทางรายได้ในวัยเกษียณที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ และได้รับสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสม
4) การฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นการฟื้นฟู อนุรักษ์ เพื่อสร้างฐานทรัพยากรของประเทศไทยในระยะยาวควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน
5) การสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งในในกระบวนการทำงานภาครัฐ ปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ติดตาม และประเมินผลมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมาย
6) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
1) ประเทศไทยมีฐานทรัพยากรรองรับการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลในเชิงสังคมและเชิงเศรษฐกิจ
2) ประชาชนมีสวัสดิการของรัฐที่เหมาะสม มีโอกาสในการสร้างอาชีพและได้รับความเป็นธรรมในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรม
3) ภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมได้รับการยกระดับ รวมทั้งลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และ
4) การบริหารจัดการภาครัฐมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จะก่อให้เกิดประโยชน์ในแต่ละระดับของสังคม คือ ระดับประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประเทศ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2561--