การขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8

ข่าวการเมือง Tuesday March 13, 2018 16:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8 (The 8th World Water Forum)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8 (The 8th World Water Forum)

2. อนุมัติให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ร่วมรับรองในปฏิญญาดังกล่าว

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของ ทส. เป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ จนสิ้นสุดการประชุม

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. การประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8 (The 8th World Water Forum) กำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-23 มีนาคม 2561 ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ภายใต้หัวข้อ “การแบ่งปันน้ำ” (Sharing Water) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงเทคนิค การเมือง และสถาบัน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มประชาสังคมแลกเปลี่ยนวิธีการแก้ไขปัญหา การปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุดและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานระหว่างประเทศ โดยในการประชุมระดับรัฐมนตรีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2561 ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม คือ

1.1 การรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีในการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8 (Ministerial Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับรัฐมนตรีของผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมการประชุม

1.2 การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable Meeting) เป็นการประชุมคู่ขนานใน 6 หัวข้อ ได้แก่

(1) สภาพภูมิอากาศ

(2) ประชาชน

(3) การพัฒนา

(4) เมือง

(5) ระบบนิเวศ และ

(6) การเงิน

2. ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ มีสาระสำคัญประกอบด้วย ข้อเรียกร้องเร่งด่วนให้มีการดำเนินการด้านน้ำอย่างเด็ดขาด ดังนี้

2.1 เริ่มต้นใหม่และเสริมสร้างพันธสัญญาทางการเมืองให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อก้าวผ่านความท้าทายที่เกี่ยวข้องด้านน้ำและการสุขาภิบาล และบรรลุเป้าประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ

2.2 เรียกร้องให้จัดเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงระหว่างการประชุมเวทีเสวนาระดับสูงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2561 ณ นครนิวยอร์ก เพื่อกระตุ้นผู้มีบทบาททางการเมือง

2.3 เชิญชวนให้เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงมีการพิจารณาหรือทบทวนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 6 ในเรื่องผลลัพธ์ของกระบวนการทางการเมืองหัวข้อสำคัญ ภูมิภาค ความยั่งยืน และพลเมืองในการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8

2.4 กระตุ้นรัฐบาลให้ก่อตั้งหรือเสริมสร้างนโยบายและแผนการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในระดับชาติและระดับต่ำกว่าตามที่เหมาะสม

2.5 สนับสนุนการจัดการองค์กรด้านน้ำระดับชาติและระดับต่ำกว่าตามที่เหมาะสมที่มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และมีความรับผิดชอบ

2.6 ระดมทุนและจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอจากแหล่งเงินทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ส่งเสริมความท้าทายพิเศษเฉพาะด้าน และความเสี่ยงของประเทศเหล่านั้น

2.7 พัฒนาและแบ่งปันวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของความท้าทายด้านน้ำและการสุขาภิบาล รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2.8 ใช้ประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 8 ภายใต้กระบวนการที่มีความหลากหลายเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามปฏิญญาฉบับนี้ในระยะยาว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ