ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณและธนาคารแห่งประเทศไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
1.กำหนดขอบเขตการบังคับใช้ โดยร่างระเบียบนี้ให้ใช้บังคับกับการกู้เงินขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามกฎหมาย ยกเว้นการกู้เงินจากเงินทุนสะสมองค์การบริหารส่วนจังหวัด เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินทุนส่งเสริมกิจการของ อปท. อื่น หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
2. กำหนดวัตถุประสงค์การกู้เงิน โดยให้ อปท. กู้เงินได้เฉพาะเพื่อการดำเนินโครงการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน โดยบรรดาเงินที่ได้รับจากการกู้เงินดังกล่าว ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน
3. กำหนดกรอบเพดานการกู้เงิน โดยให้ อปท. จะกู้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีภาระชำระหนี้ในแต่ละปีไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้เฉลี่ย (ประมาณการปีปัจจุบันและย้อนหลังสองปี) ทั้งนี้ อปท. สามารถกู้เงินเกินกรอบเพดานดังกล่าวได้หากเป็นการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการลงทุนและ อปท. มีความสามารถในการชำระหนี้โดยไม่กระทบต่อรายจ่ายประจำ โดยต้องขอความเห็นของกระทรวงมหาดไทยประกอบก่อนเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติการกู้เงิน
4. กำหนดรูปแบบการกู้เงิน โดย อปท. อาจกู้เงินเป็นสกุลเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในรูปแบบของสัญญาหรือพันธบัตรได้ แต่จะกู้เงินผ่านบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่ผู้ให้กู้โดยตรงไม่ได้ ยกเว้นการกู้ต่อจาก กค. ทั้งนี้ การออกพันธบัตรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
5. กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ ดังนี้
5.1 การค้ำประกัน เป็นไปตามหลักการในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะโดยรัฐบาลจะไม่ค้ำประกัน รวมทั้งไม่รับผิดชอบหรือตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยดังกล่าว ทั้งนี้ อปท. อาจแสวงหาการค้ำประกันจากหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจได้ตามกฎหมาย
5.2 การชำระหนี้ อปท. ต้องชำระหนี้เงินกู้ตามกำหนดเวลาโดยเคร่งครัด โดยต้องจัดให้มีการกำกับดูแลการชำระหนี้ โดยกระจายภาระการชำระหนี้ และคำนึงถึงต้นทุนในการชำระหนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับความสามารถในการดำเนินการ ทั้งนี้ การตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยต้องตั้งให้เพียงพอตามความจำเป็นในการชำระหนี้ในปีนั้น ๆ โดยสภาท้องถิ่นจะแปรญัตติเพื่อลดหรือตัดทอนไม่ได้
5.3 การปรับโครงสร้างหนี้ สามารถดำเนินการได้โดยการกู้เงินรายใหม่เพื่อชำระหนี้เดิม แปลงหนี้ ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระ ขยายหรือย่นระยะเวลาการชำระหนี้ ต่ออายุ ซื้อคืน หรือไถ่ถอนพันธบัตร หรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้นำกฎกระทรวงว่าด้วยการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยวิธีการดังกล่าวเทียบเคียงมาจากวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 14
6. กำหนดมาตรการการกำกับดูแลและการรายงาน โดยให้ อปท. ที่จะกู้เงินต้องจัดให้มีแผนการเงินประจำปี ระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และระบบการควบคุมภายใน ระบบบริหารการเงิน และการชำระหนี้
7. กำหนดบทบังคับ โดยในกรณีที่ อปท. ใดไม่ปฏิบัติตามร่างระเบียบ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 มีนาคม 2561--