1. เห็นชอบการภาคยานุวัติอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และการให้สัตยาบันข้อแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญา โดยไม่รับกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการและการเสนอเรื่องสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ และการให้สัตยาบันข้อแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาฯ
3. มอบหมายให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยประสานงานหลักระดับชาติของการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายหลังจากที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแล้ว
4. อนุมัติในหลักการสำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ให้แก่ ปส. ในฐานะหน่วยประสานงานหลักระดับชาติ และหน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ วท. (สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ได้รับจัดสรรไว้แล้ว โดยปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาดำเนินการเป็นลำดับแรกก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีรองรับตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์ และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองทางกายภาพที่มีประสิทธิภาพทั่วโลกของวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้ในทางสันติและของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ใช้ในทางสันติ ตลอดจนเพื่อป้องกันและต่อต้านการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัสดุและสถานประกอบการ
ขอบเขตของอนุสัญญาฯ ใช้บังคับกับวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้ในทางสันติในขณะใช้งาน เก็บรักษาและระหว่างการขนส่งระหว่างประเทศและสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ใช้ในทางสันติ แต่ไม่ใช้บังคับกับวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้หรือเก็บรักษาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร (ข้อ 2 ของอนุสัญญา)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 มีนาคม 2561--