ประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (6thGMS Summit) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ข่าวการเมือง Tuesday March 27, 2018 18:19 —มติคณะรัฐมนตรี

1. เห็นชอบต่อประเด็นหารือของไทยและเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (The Greater Mekong Subregion Economic Coordination : GMS) ครั้งที่ 6 ได้แก่

(1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6

(2) ร่างแผนปฏิบัติการฮานอยปี 2561-2565

(3) กรอบการลงทุนในภูมิภาค ปี 2565

ซึ่งจะได้มีการรับรองโดยไม่มีการลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก

2. ให้นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับผู้นำประเทศของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6 ร่างแผนปฏิบัติการฮานอย ปี 2561-2565 และกรอบการลงทุนในภูมิภาค ปี 2565

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า กำหนดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามร่วมกับธนาคาร ADB จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติกรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2561โดยประเด็นหารือและข้อเสนอของประเทศไทย สศช. ได้กำหนดท่าทีของไทยในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 เพื่อแสดงถึงการผลักดัน การเน้นย้ำ และการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 (Regional Investment Framework : RIF2022)

2. โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง

3. นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

4. การซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาค GMS

5. การส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชนในภูมิภาค และ

6. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ

เอกสารที่จะมีการรับรองระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 รวม 3 ฉบับมี ดังนี้

ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6 (Joint Summit Declaration: JSD) มีสาระสำคัญเป็นการแสดงความชื่นชมการดำเนินงานตามแผนงาน GMS ในช่วงระยะเวลา 25 ปี ที่ผ่านมา และแสดงถึงแนวทางการดำเนินงานของแผนงาน GMS ในอนาคต

ร่างแผนปฏิบัติการฮานอยปี 2561-2565 (Hanoi Action Plan 2018-2022) GMSได้ดำเนินการประเมินผลระยะกลางรอบของกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2555-2560) และนำผลการประเมินดังกล่าวมาจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติการฮานอยเพื่อปรับปรุงให้การดำเนินการของ GMS ยังคงมีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิกในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีองค์ประกอบหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1. ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ

2. การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์รายสาขาและการจัดลำดับสำคัญของแต่ละสาขา

3. การปรับปรุงกระบวนการวางแผนและระบบการติดตามและประเมินผล และ

4. การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเชิงสถาบัน และการเป็นหุ้นส่วน

กรอบการลงทุน RIF2022 ถูกจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฮานอย ประกอบด้วย โครงการความร่วมมือจำนวน 227 โครงการ ในสาขาความร่วมมือ 10 สาขา (ประกอบด้วยโครงการลงทุนจำนวน 143 โครงการ และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการอีก 84 โครงการ ซึ่งแผนงานด้านคมนาคมยังคงเป็นส่วนสำคัญของกรอบการลงทุน โดยกรอบ RIF2022 ถือเป็น “แผนงาน/โครงการที่มีความเคลื่อนไหว”(Living Document) ซึ่งสามารถทบทวน เพิ่มเติม และปรับปรุงได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 มีนาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ