คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ
คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้มีมติในคราวการประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และอำเภอ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. หัวข้อหลักในการรณรงค์ ใช้ชื่อว่า “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร”
2. ช่วงเวลาการดำเนินการระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2561 – 17 เมษายน 2561
3. เป้าหมายการดำเนินการในภาพรวม
1) เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561
2) สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ลดลง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเมินผลการดำเนินงาน โดยนำข้อมูลตามระบบการรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (e-report) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงเทศกาล มาวิเคราะห์และกำหนดแผนงาน วิธีการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ เน้นการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในอำเภอที่มีสถิติความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง
3) จังหวัดมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อลดจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีดื่มสุราแล้วขับขี่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตัดหน้ากระชั้นชิด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย
4) ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด
5) ลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะกรณีไม่มีใบขับขี่ ไม่สวมหมวกนิรภัย
6) ประชาชนผู้ใช้รถรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) และมีจำนวนผู้ทำประกันภัยภาคบังคับและภาษีประจำปีเพิ่มขึ้น
7) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมและการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการกำหนดพื้นที่ควบคุมความปลอดภัย และเน้นควบคุมผู้ใช้รถจักรยานยนต์
8) ลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของชาวต่างประเทศ
4. มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
4.1 มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน ประกอบด้วย
1) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง โดยเน้นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต ได้แก่ จักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมทั้งให้ดำเนินการตามมาตรการ 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. (10 รสขม) กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายสุรา กฎหมายคุ้มครองเด็ก และกฎหมายสถานบริการ กฎหมายทางหลวง กฎหมายการขนส่งทางบก กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย
ทั้งนี้ ให้ดำเนินมาตรการด้านกฎหมายต่าง ๆ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในช่วงควบคุมเข้มข้นให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง และหากมีการกระทำผิดกฎหมายในช่วงการควบคุมเข้มข้น ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและให้มีการปรับในอัตราโทษสูงสุดทุกกรณี
2) ด้านสังคมและชุมชน
(1) สำรวจและเก็บข้อมูลผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
(2) ใช้กลไก “สถาบันครอบครัว” ในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง
(3) ประชาสัมพันธ์โดยใช้รูปแบบ “เคาะประตูบ้าน”
(4) จัดให้มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning)
(5) สำรวจข้อมูลสถานที่ที่จะมีการจัดกิจกรรมหรือจัดงานเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่ทุกแห่ง และส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์และไม่มีแอลกอฮอล์ พร้อมทั้ง กำกับ ดูแลให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเพื่อประกอบการขออนุญาตจัดงาน ทั้งนี้ ในกรณีการจัดงาน midnight สงกรานต์ ต้องมีการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มข้น
(6) จัดทำ “ประชาคมชุมชน/หมู่บ้าน” กำหนดข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางถนน ให้ประชาชนถือปฏิบัติ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่
(7) จัดตั้ง “ด่านชุมชน” เพื่อสกัดกลุ่มเสี่ยงและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนของคนในพื้นที่
(8) เชิญชวนอาสาสมัคร สอดส่อง เฝ้าระวังผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง
3) ด้านการประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน
(1) ให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกชนิดให้ประชาชนรับทราบ โดยเน้นย้ำประเด็นเกี่ยวกับจักรยานยนต์ การบรรทุกท้ายกระบะ การเมาแล้วขับ และการใช้อุปกรณ์นิรภัย และสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 ในพื้นที่
(2) ให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจัดทำแผนงานการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการใช้สื่อในพื้นที่ทุกช่องทางและการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งให้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน ผ่านหอกระจายข่าว เสียงตามสาย และวิทยุชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบและปฏิบัติ
(3) ให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรณรงค์ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือผู้ขับขี่ให้เปิดไฟหน้ารถในตอนกลางวันเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่
(4) ให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ ความคุ้มครอง และประโยชน์ของการทำประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (ประกันภัย พ.ร.บ.) และข้อยกเว้นในกรมกรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วตรวจพบว่า ผู้ขับรถยนต์ที่ทำประกันภัยรถมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์ประกันภัย
4) ด้านภาครัฐ
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กำชับให้ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดถือปฏิบัติตามนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อไป
4.2 มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย
1) ถนนปลอดภัย “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” โดยให้กำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง ปรับปรุงกายภาพถนนและสภาพแวดล้อม และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุและสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน
2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและตรวจสอบลักษณะกายภาพ ของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ เพื่อดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซมให้มีความปลอดภัย รวมทั้งขอความร่วมมือผู้รับจ้างก่อสร้าง/ซ่อมแซมถนนให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 หรือกรณีที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้ติดตั้งเครื่องหมาย ป้ายเตือนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสังเกตเห็นได้ชัดเจน
3) ให้กระทรวงคมนาคมรวบรวมข้อมูลเส้นทางที่มีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งหรือเส้นทางที่มีการซ่อมแซม ก่อสร้าง และประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อกำหนดแนวทาง ในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา เช่น การอำนวยความสะดวกจราจร การตั้งจุดตรวจ เป็นต้น
4) ให้กระทรวงคมนาคมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาบริเวณ จุดตัดทางรถไฟ ที่ชัดเจน และประสานจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เพื่อให้มีความปลอดภัยในการสัญจร
5) ให้จัดจุดพักรถ และจุดบริการต่างๆ เพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน
6) ให้จัดเตรียมช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) ทางเลี่ยง ทางลัด และจัดทำป้ายเตือนป้ายแนะนำต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
7) ให้ตรวจสอบสิ่งอันตรายข้างทาง (Roadside Hazards) และปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
8) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร สำรวจ ตรวจสอบป้ายเตือนป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ สัญญาณจราจร ไฟส่องสว่าง เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ และติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสมมองเห็นได้ชัดเจน
4.3 มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ
1) ให้กำหนดมาตรการ แนวทาง เพื่อกำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ และ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร พนักงานประจำรถ และตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะและ รถโดยสารไม่ประจำทางให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย โดยให้เพิ่มความเข้มงวดกับรถโดยสารสาธารณะ และรถโดยสารไม่ประจำทาง 2 ชั้น
2) ให้กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทขนส่งจำกัด บูรณาการร่วมกันในการตรวจสอบ กำกับ ดูแล ควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้มีรถเสริมที่ผิดกฎหมาย
3) ให้ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกให้หยุดประกอบกิจการหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561
4) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ขับขี่ ตรวจสอบสภาพรถยนต์ก่อนออกเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561
5) ให้เข้มงวด กวดขันกับผู้ใช้รถกระบะที่บรรทุกน้ำหนักเกิน
6) ให้เร่งตรวจสอบ และกวดขันให้ผู้มีรถประเภทต่างๆ ในครอบครองให้มีการตรวจสภาพรถ และดูแลให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ดำเนินการชำระภาษีประจำปี และทำประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (ประกันภัย พ.ร.บ.) ให้ถูกต้อง โดยให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 - 31 มีนาคม 2561
4.4 มาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
1) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานคร บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางในการตรวจตรา ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในสถานที่ท่องเที่ยว สถานบันเทิง พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) และสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองรื่นเริงทุกแห่ง
2) ให้จังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและกรุงเทพมหานคร พิจารณาหามาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นพิเศษตามความเหมาะสมของพื้นที่
3) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานคร กำกับ ดูแล และขอความร่วมมือสถานประกอบการที่มีธุรกิจบริการเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้ตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศก่อนให้เช่ารถทุกครั้ง พร้อมทั้งแนะนำ เน้นย้ำให้มีการใช้อุปกรณ์นิรภัยขณะขับขี่และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด
4) ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อปฏิบัติ และข้อมูลการเดินทางในพื้นที่ ผ่านช่องการสื่อสารทุกรูปแบบ อย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำข้อมูลเป็นภาษาสากลเพื่อสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
4.5 มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ
ให้กระทรวงคมนาคมบูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัด (เฉพาะจังหวัดที่มีการสัญจรทางน้ำและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ) กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1) กำหนดมาตรการ แนวทางการดูแลความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อป้องกัน การเกิดอุบัติภัยต่างๆ และประชาชนเกิดความปลอดภัยในการสัญจรและท่องเที่ยว
2) จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำประจำท่าเทียบเรือที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตรวจสอบความปลอดภัยของเรือโดยสารและโป๊ะเทียบ เพื่อให้มีความพร้อม
3) จัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือสาธารณะที่มีประชาชนใช้บริการหนาแน่น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้คำแนะนำในการสัญจรทางน้ำ โดยเข้มงวดกวดขันมิให้เรือมีการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าอัตราที่กำหนด และให้ผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่มีการสัญจรทางเรือ
4) ประสานงานผู้ประกอบการเรือโดยสารจัดเรือโดยสารไว้บริการให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยว
5) กำชับหน่วยงานในสังกัดซึ่งควบคุมดูแลท่าเรือและเรือที่ใช้ในการสัญจรทางน้ำทุกประเภทในบริเวณพื้นที่ชายทะเล หากพบว่ามีคลื่นลมแรงให้สั่งให้เรือโดยสารงดออกจากท่าเรือโดยเด็ดขาด
4.6 มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ
1) จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการติดต่อสื่อสาร การสั่งการ ประสานงาน และการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเครือข่ายและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
2) จัดเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ชีพ และกู้ภัย ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์การสั่งการ ระบบการติดต่อสื่อสาร และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
3) การประชาสัมพันธ์ระบบการช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้ประสบเหตุควรจะได้รับ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
4) จัดเตรียมความพร้อมของระบบการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ณ จุดเกิดเหตุของ แต่ละพื้นที่ และบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ให้ใช้งบประมาณปกติของแต่ละหน่วยงานในการดำเนินงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องในการเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนตามคำสั่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5. แนวทางการดำเนินงาน
5.1 ช่วงเตรียมความพร้อมและช่วงการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2561 ถึง วันที่ 10 เมษายน 2561
5.2 ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2561
6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
6.1 จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง
6.2 จำนวนรถจักรยานยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง
6.3 จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง
ในการนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้จัดกลุ่มการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของอำเภอและสำนักงานเขต เพื่อให้จังหวัดใช้ประกอบการบริหารจัดการและพิจารณากำหนดแนวทางมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยใช้ค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี ทั้งช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ เป็นฐานข้อมูลในการจัดกลุ่ม ดังนี้
1) อำเภอหรือสำนักงานเขตที่มีการเกิดอุบัติเหตุระดับสูงทั้งเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ จำนวน 109 อำเภอ
2) อำเภอหรือสำนักงานเขตที่มีการเกิดอุบัติเหตุระดับสูงเทศกาลใดเทศกาลหนึ่ง จำนวน 89 อำเภอ และ 1 สำนักงานเขต
3) อำเภอหรือสำนักงานเขตที่มีการเกิดอุบัติเหตุระดับน้อยถึงปานกลาง จำนวน 656 อำเภอ และ 38 สำนักงานเขต
4) อำเภอหรือสำนักงานเขตที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Admit) ทั้งช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ จำนวน 24 อำเภอ และ 11 สำนักงานเขต
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 เมษายน 2561--