เรื่อง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และอนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยของการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและความปลอดภัยของการจัดการกากกัมมันตรังสี
1. เห็นชอบการภาคยานุวัติอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และอนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยของการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและความปลอดภัยของการจัดการกากกัมมันตรังสี
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ
3. มอบหมายให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยประสานงานหลักระดับชาติในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ภายหลังจากที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแล้ว
4. อนุมัติในหลักการสำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ให้แก่ ปส. และหน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้อง
วท. โดย ปส. รายงานว่า การเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการใช้ประโยชน์จากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติและแสดงถึงจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุนการดำเนินการทุกวิถีทางของประชาคมโลกในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการแสดงตนเป็นประเทศสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรดำเนินการเพื่อภาคยานุวัติต่ออนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวโดยเร็วในโอกาสแรกที่ดำเนินการได้ ทั้งนี้ ปส. ได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 (มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560) ซึ่งสามารถรองรับพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าวได้ สรุปสาระสำคัญของอนุสัญญาทั้งสองฉบับได้ ดังนี้
1. อนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ อนุสัญญา ฉบับนี้ได้กำหนดพันธกรณีรัฐภาคีอนุสัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุและคงไว้ซึ่งความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ระดับสูงทั่วโลกโดยยกระดับมาตรการระดับชาติ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความร่วมมือทางเทคนิคที่เหมาะสมในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ตลอดจนเพื่อสร้างและคงไว้ซึ่งการป้องกันอันตรายจากรังสีที่อาจเกิดขึ้นในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพ
2. อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยของการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและความปลอดภัยของการจัดการกากกัมมันตรังสี อนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดพันธกรณีสำหรับรัฐภาคีอนุสัญญามีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุและคงไว้ซึ่งความปลอดภัยระดับสูงทั่วโลกในการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วและกากกัมมันตรังสี โดยยกระดับมาตรการระดับชาติ ความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือที่เหมาะสมทางเทคนิคในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย รวมทั้งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่มีผลกระทบจากรังสีและเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวหากเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนใด ๆ ของการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วหรือกากกัมมันตรังสี
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 เมษายน 2561--