1. ให้ความเห็นชอบต่อเอกสาร จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนเพื่ออาเซียนที่มีความเข้มแข็งและนวัตกรรม (ASEAN Leaders’s Vision for a Resilient and Innovative ASEAN)
1.2 ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (ASEAN Leaders’s Statement on Cybersecurity Cooperation)
1.3 ร่างเอกสารแนวคิดเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (Concept Note on ASEAN Smart Cities Network)
โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. หรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และหลักจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารข้อ 1.1 – 1.3 ในที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 รับรองต่อไป
3. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรองเอกสารตามข้อ 1.1 – 1.3 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 (การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 -28 เมษายน 2561)
1. ร่างเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนเพื่ออาเซียนที่มีความเข้มแข็งและนวัตกรรม (ASEAN Leaders’s Vision for a Resilient and Innovative ASEAN) เป็นเอกสารที่สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียน ปีนี้ต้องการให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งและมีนวัตกรรม โดยระบุประเด็นสำคัญภายใต้ 3 เสาของประชาคมอาเซียนที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นควรมีการดำเนินการและ/หรือผลักดัน เป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ 1) ประชาคมการเมืองและความมั่งคงอาเซียน 2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมไทย
2. ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (ASEAN Leaders’s Statement on Cybersecurity Cooperation) เป็นเอกสารที่มุ่งสนับสนุนการดำเนินมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและรับรองบรรทัดฐานร่วมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจและไม่ผูกพัน เพื่อให้รัฐมีพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบในพื้นที่ไซเบอร์
3. ร่างเอกสารแนวคิดเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEANSmart Cities Network ConceptPaper) เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอาเซียน โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมทั้งเรียนรู้และสรรหาเงินทุนจากภาคีภายนอกอาเซียน และสร้างเวทีในการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ และของประชาคมอาเซียนในภาพรวม โดยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและยั่งยืนจะเป็นไปตามบริบทท้องถิ่นและนวัตกรรมที่แตกต่างกันของแต่ละเมือง และไม่ทับซ้อนกับแผนปฏิบัติการหรือแผนการดำเนินงานของประเทศหรือเมืองที่มีอยู่แล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 เมษายน 2561--