ข้อเสนอการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพิ่มเติม

ข่าวการเมือง Tuesday May 1, 2018 16:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักการ มาตรการ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพิ่มเติม รวมทั้งแผนการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 และการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดเป้าหมายของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์สุข แก่ประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐที่มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐนั้น แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาระบบราชการบางประการ ดังนั้น จึงสมควรเพิ่มเติมมาตรการและวิธีการให้ ส่วนราชการต้องปฏิบัติโดยอาศัยความตามมาตรา 50 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่ได้บัญญัติไว้ว่า “เพื่อให้ การบริหารราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจกำหนดให้ส่วนราชการต้องปฏิบัติการใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 และมาตรา 49 ก็ได้” ทั้งนี้ เพื่อให้ส่วนราชการ มีขอบเขต แบบแผน วิธีปฏิบัติราชการ ที่สอดคล้องกับบริบทตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การพัฒนา ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 โดยเฉพาะการสานพลังประชารัฐ การสร้างนวัตกรรม การพัฒนาสู่ความเป็นดิจิทัล และการปรับกระบวนการทางความคิดของข้าราชการ สรุปสาระสำคัญของข้อเสนอหลักการ มาตรการ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพิ่มเติม ดังนี้

1. ข้อเสนอหลักการ มาตรการ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรการ 50 แห่ง พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้เสนอมาตรการและวิธีการให้ส่วนราชการต้องปฏิบัติเพิ่มเติมรวม 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ระบบราชการที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน

หลักการ เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างเปิดกว้าง เชื่อมโยงกัน และเกิดความเชื่อถือไว้วางใจให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่จะต้องเปิดเผย แบ่งปัน และเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารสนเทศระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารสนเทศได้โดยง่าย นอกจากนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนากิจการบ้านเมืองหรือการปฏิบัติราชการให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการให้ส่วนราชการ ต้องดำเนินการสานพลังการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม หรือเปิดให้ภาคส่วนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการบริหารงาน

ประเด็นที่ 2 ระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัยหลักการ ในการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ส่วนราชการริเริ่มคิดค้นนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์หรือสร้างคุณค่าในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านนโยบายสาธารณะ ด้านการให้บริการ ด้านกระบวนการ และด้านการบริหารจัดการองค์การ เป็นต้น โดยให้ความสำคัญต่อกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับประชาชน ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และขั้นตอน นอกจากนี้ ให้ถือเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะต้องปรับกระบวนการทางความคิดและเพิ่มพูนสมรรถนะ ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรเกิดความผูกพันต่อองค์การเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นทุ่มเทในการปฏิบัติราชการ รวมทั้งเป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ

2. แผนการดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อให้ส่วนราชการพัฒนาการบริหารจัดการไปสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ได้กำหนดแผนการดำเนินการขับเคลื่อน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 50 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมือง ที่ดี เพิ่มเติม เพื่อกำหนดแนวทางและปฏิบัติงานในการยกระดับสู่ระบบราชการ 4.0 และให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและติดตามหน่วยงานภาครัฐให้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (เพิ่มเติม) โดยกำหนดแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 ระยะ ดังนี้

2.1 การดำเนินการระยะสั้น (มีนาคม – กันยายน 2561) สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (เพิ่มเติม) และแนวทางการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการจัดทำแผน/แนวทางพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ที่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ฯ (เพิ่มเติม) การพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0

2.2 การดำเนินการระยะยาว (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป) หน่วยงานภาครัฐดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผน/แนวทางที่กำหนดเป็นประจำทุกปี เพื่อหาโอกาสในการปรับปรุงองค์การและดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมี สำนักงาน ก.พ.ร. ตรวจรับรองสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤษภาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ