1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับ Country Programme (CP) ระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Memorandum of Understanding a Country Programme between The Government of the Kingdom of Thailand and The Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจข้างต้นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศไทย กต. สามารถพิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) หรือผู้แทนที่ได้รับการมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจข้างต้น โดยให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้ลงนามดังกล่าว
3. อนุมัติงบประมาณการดำเนินโครงการ CP ทั้งสิ้น จำนวน 121,278,200 บาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ CP โดยในส่วนงบรายจ่ายอื่น ลักษณะเงินอุดหนุน จำนวน 109,707,000 บาท ให้จัดสรรไปให้ กต. โดยตรงทั้งหมด เพื่อ กต. จะได้ดำเนินการมอบให้กับ OECD ต่อไป
กต. รายงานว่า บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับ CP จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินโครงการ CP โดย กต. ได้ปรึกษาหารือกับ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและได้เจรจาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวกับฝ่าย OECD ผ่านสถานเอกอัคราชฑูต ณ กรุงปารีส เพื่อให้บันทึกความเข้าใจข้างต้นสอดคล้องกับความต้องการและผลประโยชน์สูงสุดของฝ่ายไทย โดยจะจัดทำบันทึกความเข้าใจเพียงฉบับเดียวที่ระบุหลักฐานเกณฑ์ความร่วมมือครอบคลุมสำหรับโครงการย่อยทั้ง 16 โครงการ ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับเดียวระหว่างฝ่ายไทยและ OECD จะช่วยให้การเจรจาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และทุกโครงการย่อยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขที่สอดคล้องกัน โดยร่างบันทึกความเข้าใจ ดังนี้
1. บันทึกความเข้าใจระหว่างคู่ภาคี กำหนดเงื่อนไขของความร่วมมือในเรื่อง โครงการ CP ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนวาระของการปฏิรูปประเทศไทยในเชินนโยบายหลายด้าน ส่งเสริมการรับรองตราสารทางกฎหมายของ OECD ที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการนำมาตรฐาน OECD ไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
2. กิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดภายใต้บันทึกความเข้าใจจะต้องดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและแนวปฏิบัติของคู่ภาคี และอยู่ภายใต้ส่วนที่รวมอยู่ในแผนงานและงบประมาณของ OECDสาขาความร่วมมือมุ่งเน้น 4 เสาหลัก ได้แก่
(1) ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส
(2) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน
(3) ประเทศไทย 4.0
(4) การเติบโตอย่างทั่วถึง
รูปแบบของความร่วมมือ เช่น
(1) การศึกษาร่วมกัน การทบทวนนโยบายระดับชาติ และการวิเคราะห์อื่น ๆ
(2) การแลกเปลี่ยนข้อมูล
(3) การแบ่งปันข้อมูลสถิติและข้อมูลอื่น ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ที่ดีขึ้นสำหรับคู่ภาคี
(4) การจัดประชุมร่วม สัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการ
(5) การมีส่วนร่วมในกิจกรรมระดับชาติและระดับภูมิภาค
(6) ความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ของคู่ภาคี ผ่านภารกิจและการส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยปฏิบัติงานและ/หรือการให้ยืมเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานที่ OECD โดยกระทรวงหรือหน่วยงานของประเทศไทย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤษภาคม 2561--