1. เห็นชอบหลักการเกี่ยวกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรดังกล่าวไปพิจารณาปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่ต้องนำหลักสูตรไปดำเนินการรับความเห็นของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยให้ประสานงานกับสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ สำหรับภาระงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีรองรับไว้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ไปดำเนินการในโอกาสแรกก่อน สำหรับปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2. ให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณานำหลักสูตรนี้ไปปรับใช้ในโครงการฝึกอบรมหลักสูตรข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่บรรจุใหม่ รวมทั้งให้พิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรโค้ชให้มีความชัดเจน โดยให้หมายความรวมถึงบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทั้งในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรอุดมศึกษาด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการถ่ายทอดความรู้หรือช่วยในการจัดการเรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการและรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาทราบเป็นระยะ ๆ ด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
หลักสูตรต้านทุจริตศึกษามีวัตถุประสงค์ในการปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตให้สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนตนสิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตพอเพียงต้านทุจริต ละอายและเกรงกลัวที่จะไม่ทุจริตและไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบผ่านสถาบันการศึกษา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และสถาบันการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สถาบันการศึกษาในสังกัด ตช. สถาบันการศึกษาทางทหาร เป็นต้น ต่อเนื่องไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมทั้งระบบการศึกษา นอกจากนี้ ยังรวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับบุคลากรของรัฐและพนักงานรัฐวิสาหกิจในหน่วยงานภาครัฐ โดยแต่ละหลักสูตรประกอบด้วยเนื้อหา 4 ชุดวิชา ดังนี้
1. การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ชุดวิชาดังกล่าวเน้นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนระบบการคิดของคนในสังคมแยกแยะให้ได้ว่า “เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนตน ... เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม” โดยนำวิธีคิดแบบฐาน 10 (Analog thinking) และฐาน 2 (Digital thinking) มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืน
2. ความละอายความไม่ทนต่อการทุจริต เป็นชุดวิชาเกี่ยวกับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพสังคมให้เกิดภาวะ “ที่ไม่ทนต่อการทุจริต” โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในทุกช่วงวัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต และปลูกฝังความพอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นพลเมืองดี มีจิตสาธารณะ ผ่านทางสถาบันหรือกลุ่มตัวแทนที่ทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาทางสังคม เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ เกิดพฤติกรรมที่ละอายต่อการกระทำความผิด การไม่ยอมรับและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
3. STRONG: จิตพอเพียงต้านทุจริต เป็นชุดวิชาที่ประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประกอบกับหลักการต่อต้านการทุจริตอื่น ๆ เพื่อสร้างฐานคิดจิตพอเพียงต่อต้านการทุจริตให้เกิดขึ้นเป็นพื้นฐานความคิดของปัจเจกบุคคล โดยประยุกต์หลัก “STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต” ซึ่งคิดค้นโดยรองศาสตราจารย์ ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ในปี 2560 มาเป็นแนวทางในการพัฒนาวัฒนธรรมหน่วยงาน
4. พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม พลเมืองศึกษาเป็นการจัดการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศ มีความภูมิใจในความเป็นพลเมืองตนเอง มีสิทธิมีเสียง สนใจต่อส่วนรวม และมีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมืองตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับรัฐบาล รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระบบการเมือง การปกครองสิทธิและความรับผิดชอบของพลเมือง ระบบการบริหารจัดการสาธารณะและระบบตุลาการ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤษภาคม 2561--