คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายงานกรณีมีผู้พลัดหลงที่วนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ดังนี้
1. สถานการณ์
1.1 เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2561 นักฟุตบอลเยาวชน ทีม "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" (ช่วงอายุ 11 – 16 ปี) จำนวน 13 คน ประกอบด้วย
(1) นายเอกพล จันทะวงษ์ ผู้ฝึกสอน อายุ 25 ปี
(2) ด.ช.อดุลย์ สามออน อายุ 14 ปี โรงเรียนบ้านเวียงพาน
(3) ด.ช.ประจักษ์ สุธรรม อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
(4) ด.ช.ณัฐวุฒิ ทาคำทราย อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
(5) ด.ช.ภานุมาศ แสงดี อายุ 13 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
(6) นายพีรพัฒน์ สมเพียงใจ อายุ 16 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
(7) ด.ช.สมพงษ์ ใจวงค์ อายุ 13 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
(8) ด.ช.ดวงเพชร พรมเทพ อายุ 13 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
(9) ด.ช.พิพัฒน์ โพธิ อายุ 15 ปี โรงเรียนบ้านสันทราย
(10) ด.ช.ชนินทร์ วิบูลย์รุ่งเรืองอายุ 11 ปี โรงเรียนอนุบาลแม่สาย
(11) ด.ช.เอกรัตน์ วงค์สุขจันทร์ อายุ 14 ปี โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา
(12) นายพรชัย คำหลวง อายุ 16 ปี โรงเรียนป่ายาง
(13) ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม อายุ 13 ปี โรงเรียนบ้านป่าเหมือด
โดยทั้ง 13 คน ได้ทำการฝึกซ้อมฟุตบอล ณ สนามกีฬาบ้านจ้อง สนามกีฬากลางตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
1.2 หลังจากทำการฝึกซ้อมเสร็จ ได้พากันเดินทางโดยรถจักรยาน จำนวน 11 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน ไปถึงเขตวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณเวลา 15.00 น.
1.3 เจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ ได้เดินตรวจตราความเรียบร้อยเพื่อเตรียมปิดบริการ จึงพบรถจักรยานยนต์และรถจักรยานจอดอยู่บริเวณปากถ้ำ และจัดทีมระดมค้นหาชุดที่ 1 (จนท.อุทยาน 3 นาย) แต่ไม่พบผู้สูญหาย จึงได้ประสานองค์กร/มูลนิธิสาธารณกุศล อาทิ มูลนิธิสยามรวมใจ (ปู่อินทร์) สมาคมศิริกรณ์เชียงรายบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนหน่วยทหาร อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่น ๆ ลงพื้นที่ปฏิบัติการ ค้นหาภายในถ้ำหลวงนางนอน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 04.00 น. แต่ไม่พบผู้สูญหาย
2. การดำเนินการให้ความช่วยเหลือ
2.1 วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2561 เวลา 02.30 น. นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ที่ทำการปกครองอำเภอแม่สาย สถานีตำรวจภูธรแม่สาย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ดูแลความปลอดภัยขณะปฏิบัติงานและเร่งรัดการค้นหาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ระดับน้ำบริเวณถ้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนปิดทางเข้าออกบางส่วน และกระแสน้ำไหลรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้นหาจึงยุติการค้นหา ในเวลา 04.00 น. และเริ่มการค้นหาอีกครั้งเวลา 09.00 น.
- เวลา 09.00 น. เริ่มปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย โดยได้จัดทีมค้นหาออกเป็น 15 ชุด มีภารกิจหลัก ได้แก่
1. การค้นหาและให้ความช่วยเหลือผู้สูญหาย
2. ปฏิบัติการลำเลียงน้ำและอาหารส่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในถ้ำ
3. เฝ้าฟังวิทยุและบูรณาการวิทยุสื่อสาร
4. ประจำจุดคัดกรอง จนท.ผู้ปฏิบัติงานภายในถ้ำ
5. วัดปริมาณออกซิเจนภายในถ้ำ
6. บูรณาการเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง
และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย จัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญ-สถานการณ์วิกฤต (ERT) 7 คน พนักงานขับฯ 6 คน ผู้ประสานงาน 3 นาย เครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์ ดังนี้
1. รถไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 200KVA จำนวน 1 คัน
2. รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 คัน
3. รถดับเพลิงในอาคารควบคุมระยะไกล ULF จำนวน 1 คัน
4. รถบรรทุกเล็ก จำนวน 2 คัน
5. พัดลมระบายอากาศชนิดไฟฟ้า จำนวน 1 เครื่อง
6. พัดลมระบายอากาศชนิดเครื่องยนต์ จำนวน 1 เครื่อง
7. เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 1 เครื่อง
8. ไฟบอลลูนไลท์ จำนวน 2 ชุด
- เวลา 10.35 น. จังหวัดเชียงรายได้จัดชุดค้นหาผู้สูญหายจำนวน 7 ชุด ดังนี้
(1) ชุดที่ 1 ประกอบด้วย Mr. Vernon Unsworth (ผู้ที่เคยสำรวจถ้ำหลวง) และทีมงานรวม 3 คน พร้อมด้วยทหาร 5 นาย และเจ้าหน้าที่ประจำวิทยุสื่อสาร 1 คน
(2) ชุดที่ 2 ประกอบด้วย หน่วยทหาร 5 นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
(3) ชุดที่ 3 ประกอบด้วย สมาชิก อส. พร้อมด้วยผู้นำทาง (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) และเจ้าหน้าที่ประจำวิทยุสื่อสาร
(4) ชุดที่ 4 ประกอบด้วย สมาชิก อส. พร้อมด้วยผู้นำทาง และเจ้าหน้าที่ประจำวิทยุสื่อสาร
(5) ชุดที่ 5 ประกอบด้วย เทศบาลตำบลแม่สาย (ทีมนายพรชัย ประดิษฐ์ค่าย) พร้อมด้วยผู้นำทาง และเจ้าหน้าที่ประจำวิทยุสื่อสาร
(6) ชุดที่ 6 ประกอบด้วย เทศบาลตำบลแม่สาย (ทีมนายมรกต ไชยมูลมั่ง) พร้อมด้วยผู้นำทาง และเจ้าหน้าที่ประจำวิทยุสื่อสาร
(7) ชุดที่ 7 ประกอบด้วย เทศบาลตำบลแม่สาย (ทีมนายอาทิตย์ วิระค้า) พร้อมด้วยผู้นำทาง และเจ้าหน้าที่ประจำวิทยุสื่อสาร
- หน่วยงานที่สนับสนุนปฏิบัติการค้นหา ประกอบด้วย หน่วยงานทหารหน่วยงานตำรวจ ที่ทำการปกครองอำเภอแม่สายศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงรายวนอุทยานถ้ำหลวงฯ (สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) มูลนิธิสยามรวมใจ (ปู่อินทร์) สมาคมศิริกรณ์เชียงรายบรรเทาสาธารณภัยอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลตำบลแม่สาย กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทีมงาน Mr.Vernon Unsworth และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- การให้ความช่วยเหลือที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยการจัดเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำบริเวณทางเข้าถ้ำชั้นในให้ลดระดับลงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทีมค้นหา และจัดชุดปฏิบัติการค้นหาเข้าไปในถ้ำพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่วิทยุสื่อสาร และจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนก็ต่อเมื่อทีมค้นหาชุดที่ส่งไปก่อนหน้ากลับออกมา รายละเอียด ดังนี้
(1) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ชุดค้นหาผู้สูญหายชุดที่ 1 นำโดย Mr.Vernon Unsworthแจ้งว่าพบร่องรอยของผู้สูญหาย และการเข้าถึงบริเวณต้องสงสัยว่าผู้สูญหายไปพักอยู่จะต้องใช้ชุดประดาน้ำและมีความจำเป็นต้องใช้สายนำสัญญาณเพื่อช่วยสื่อสารในถ้ำ ความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จึงปรับวิธีการค้นหาโดยใช้ชุดประดาน้ำลำเลียงน้ำและอาหาร รวมถึงสิ่งของจำเป็นนำส่งผู้ประสบภัยเพื่อประทังชีวิตก่อน และให้หน่วยงานที่มีความพร้อมสนับสนุนสายสัญญาณเร่งจัดหาสายนำสัญญาณโดยเร็ว เพื่อดำรงการสื่อสารตลอดการค้นหา
(2) ข้อสรุปจากการประชุมหารือหลังจากที่ Mr.Vernon Unsworth ออกมาจากถ้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ปลัดอำเภอแม่สาย เป็นผู้รับผิดชอบการบัญชาการเหตุการณ์ และมอบรองปลัดเทศบาลนครเชียงรายเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการค้นหา
(3) เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. ชุดประดาน้ำจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฐานอัมรินทร์ใต้ และเทศบาลนครเชียงราย รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 นาย ประชุมวางแผนเพื่อจะเข้าปฏิบัติการฯ
(4) เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ชุดประดาน้ำจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฐานอัมรินทร์ใต้ และเทศบาลนครเชียงรายเริ่มปฏิบัติการลำเลียงน้ำและอาหาร
(5) เมื่อเวลา 16.26 น. ชุดประดาน้ำชุดที่ 1 ประกอบด้วย ชุดประดาน้ำจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (จำนวน 2 คน) อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฐานอัมรินทร์ใต้ (จำนวน 2 คน) และทีม Mr.Vernon Unsworth ผู้นำทาง จำนวน 2 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 7 คน เริ่มปฏิบัติการลำเลียงน้ำและอาหารฯ
(6) ตำรวจตระเวนชายแดน 327 สนับสนุนกำลังพล และสุนัขดมกลิ่น (จำนวน 2 นาย) โดยถอนกำลังออกไปเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ไม่สามารถใช้สุนัขปฏิบัติการร่วมได้เนื่องจากสภาพอากาศภายในถ้ำไม่เอื้ออำนวย
(7) เมื่อเวลา 19.20 น. ชุดประดาน้ำชุดที่ 1 ยุติการค้นหา เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี มองเห็นได้เพียงในระยะ 1 ฝ่ามือเท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นช่องทางที่สามารถทะลุเข้าไปยังจุดที่คาดว่าผู้สูญหายจะไปอาศัยอยู่ และออกซิเจนในถังเหลือน้อยจึงตัดสินใจถอนกำลัง
(8) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประสานขอรับการสนับสนุนชุดประดาน้ำ จากหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย (ไม่ทราบจำนวน) อยู่ระหว่างเคลื่อนย้ายกำลังพล
(9) มณฑลทหารบกที่ 37 ประสานแจ้งว่า จะนำกำลังพลร่วมปฏิบัติการค้นหา ในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 (ยังไม่ได้รับแจ้งยอดกำลังพลและเวลา)
2.2 วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 เวลาประมาณ 02.30 น. ผบ.กรม.รพศ1 พร้อมด้วย ข้าราชการกรมรบพิเศษที่ 1 รวมจำนวน 17 นาย นำกำลังและอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย
- เวลา 17.00 น. สรุปการดำเนินการ ดังนี้
- หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยซีล) รวม 17 นาย จัดทีมชุดค้นหา และสามารถเข้าไปถึงห้องโถงใหญ่ (ผ่านจุดที่น้ำสูงไปได้แล้ว) เข้าไปได้แล้วประมาณ 2 กิโลเมตร จากระยะทาง 4 กิโลเมตร พบร่องรอยนิ้วมือและการเขียนชื่อ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่
- ปัญหาอุปสรรค คือ มีน้ำท่วมทางในถ้ำเป็นระยะ มีความลึกตั้งแต่ระดับเอวถึงระดับศีรษะ การเข้าไปจึงต้องดำน้ำบางช่วงสลับเดิน ซึ่งหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งข้อสังเกตว่าหากพบเด็ก ต้องวางแผนที่จะลำเลียงออกมาอีกครั้ง เพราะน้ำท่วมหลายช่วงยากจะให้เด็กดำน้ำออกมา
- หน่วยทหารจากมณฑลทหารบกที่ 37 ได้รับข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ เคยเห็นโพรงอยู่เหนือถ้ำเมื่อนานมาแล้ว และทางวนอุทยานเห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงดำเนินการสำรวจ แต่ยังไม่พบโพรงดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งหากมีจริง จะมีทางเลือกเพิ่มคือการโรยตัว นอกจากนี้ยังได้จัดกำลังพลทำฝายชะลอน้ำ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าถ้ำอย่างรวดเร็ว
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เดินสายไฟและสายสัญญาณการสื่อสารให้มีความเสถียร
- หน่วยกู้ภัยเอกชน จัดทีมลำเลียงไว้ 6 ทีม เพื่อกรณีสามารถช่วยเหลือเด็กแล้วจะสามารถลำเลียงเด็กออกมาปฐมพยาบาล และเตรียมส่งโรงพยาบาลทันที
- เวลา 18.00 น. ทีมปฏิบัติการค้นหาฯ ได้ประชุมปรับแผนการค้นหา และยังไม่พบกลุ่มผู้สูญหาย
2.3 วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561 สรุปการดำเนินการ ดังนี้
- พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เข้าประชุมรับทราบสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความช่วยเหลือให้สามารถนำเด็กออกมาโดยเร็วที่สุด และหากพบตัวแล้วต้องรีบส่งทีมเข้าไปดูแล โดยขณะนี้อุปกรณ์ที่ใช้ช่วยเหลือถือว่ามีความเพียงพอแล้วจึงต้องบูรณาการไม่ให้เกิดความสับสนในการเข้าไปช่วยเหลือ และหากมีการสูบน้ำออกจากถ้ำได้เชื่อว่าการเข้าไปช่วยเหลือจะทำได้ง่ายขึ้น จากนั้นได้เดินทางไปให้กำลังใจครอบครัวของเด็กและโค้ชทั้ง 13 คน
- ปฏิบัติการพร่องน้ำออกจากถ้ำ เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเวลา 21.00 น. ของวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ระดับน้ำในถ้ำสูงขึ้น จึงได้เร่งปฏิบัติการสูบน้ำบริเวณปากทางเข้าถ้ำโดยติดตั้งเครื่องไดโว่สูบน้ำออกจากถ้ำ และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย ส่งรถบรรทุกเครื่องสูบน้ำท่วมขัง (อัตราสูบ 50,000 ลิตร/นาที) จำนวน 2 คัน และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมจำนวน 3 คัน นอกจากนี้ กรมชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง ดำเนินการสูบน้ำออกจากหนองน้ำพุ เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน และส่งทีมจากสำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 10 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง ขนาด 10 นิ้ว 8 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำด้วยเครื่องยนต์ (ดีเซล) ขนาด 12 นิ้ว อีก 1 เครื่อง สนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับใช้สูบน้ำออกจากหนองเพื่อช่วยระบายน้ำออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
- การสนับสนุนระบบสื่อสาร บริษัทเอไอเอส ได้ส่งเจ้าหน้าที่วิศวกร และรถสถานีฐานเคลื่อนที่ พร้อมทำการติดตั้งเครือข่ายให้ระบบสื่อสารในบริเวณดังกล่าวเป็นไปอย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น และได้ทำการปรับจูนสัญญาณจากสถานีฐานใกล้เคียงด้วยการหันจานสายอากาศ (antenna) ไปยังบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน และดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ทวนสัญญาณ (repeater) เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับการใช้งาน และได้เดินสายออพติกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เข้าไปที่พื้นที่เพื่อเปิดสัญญาณWiFiช่วยรองรับการใช้งานฐานข้อมูลและการสื่อสาร
- เจ้าหน้าที่ชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า-พระนครเหนือ จำนวน 13 คน และสนับสนุนหุ่นยนต์ดำน้ำ (ROV) จำนวน 1 เครื่อง และโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับบินสำรวจ จำนวน 2 ลำ
- โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย จัดทีมแพทย์พยาบาล สนับสนุน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และพูดคุยให้กำลังใจ เพื่อลดความเครียดแก่ครอบครัวของผู้ประสบภัย
- ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ตั้งจุดคัดกรองรถเข้าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนบริเวณทางเข้าวัดบ้านจ้อง หมู่ที่ 9 ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และขอความร่วมมือผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องห้ามเข้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 มิถุนายน 2561--