ขออนุมัติลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำความผิด

ข่าวการเมือง Tuesday July 3, 2018 17:04 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำความผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำความผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามสนธิสัญญาฯ

3. ให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในสนธิสัญญาข้างต้นในกรณีที่ผู้ลงนามไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

4. ให้ กต. ดำเนินการให้สนธิสัญญาฯ มีผลใช้บังคับในโอกาสอันเหมาะสมตามแต่จะตกลงกับฝ่ายศรีลังกาต่อไป (สนธิสัญญาดังกล่าวมีกำหนดการลงนามระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2561 ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการ)

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่างสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการขอโอน และการรับโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาระหว่างภาคี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. บุคคลที่ต้องโทษตามคำพิพากษาในดินแดนของภาคีฝ่ายหนึ่ง อาจได้รับการโอนตัวไปยังดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งตามบทบัญญัติของสนธิสัญญานี้ เพื่อรับโทษที่บุคคลนั้นถูกพิพากษา

2. ผู้กระทำผิดอาจได้รับการโอนตัวภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

2.1 หากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุของการมีคำพิพากษา ให้ลงโทษเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายของรัฐผู้รับ

2.2 หากผู้กระทำผิดเป็นคนชาติของรัฐผู้รับและมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้โอน

2.3 หากโทษตามคำพิพากษาที่ลงแก่ผู้กระทำผิดเป็นโทษจำคุก กักขัง หรือการทำให้สูญเสียอิสรภาพในรูปแบบอื่นใด

2.4 หากผู้กระทำผิดได้รับโทษทำให้สูญเสียอิสรภาพในรูปแบบอื่นใดมาแล้วเป็นระยะเวลาขั้นต่ำตามที่กำหนดโดยกฎหมายของรัฐผู้โอน

2.5 หากในขณะที่ได้รับคำร้องขอให้โอนตัว ผู้กระทำผิดยังคงเหลือระยะเวลาในการรับโทษตามคำพิพากษาอีกอย่างน้อยหนึ่งปี

2.6 หากรัฐผู้โอน รัฐผู้รับ และผู้กระทำผิดเห็นชอบต่อการโอนตัว

3. คำร้องขอให้โอนตัวผู้กระทำผิดจะถูกปฏิเสธตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

3.1 ในกรณีรัฐผู้โอนคือราชอาณาจักรไทย หากผู้กระทำผิดถูกพิพากษาให้รับโทษในความผิด

(1) ต่อความมั่นคงภายในหรือภายนอกของรัฐ

(2) ต่อประมุขของรัฐ หรือสมาชิกในครอบครัวของประมุขของรัฐ หรือ

(3) ต่อกฎหมายคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติ

3.2 ในกรณีรัฐผู้โอนคือสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา หากผู้กระทำผิดถูกพิพากษาให้รับโทษในความผิด

(1) ต่อความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์ที่สำคัญอื่นใดของศรีลังกา หรือ

(2) ภายใต้กฎหมายทหาร

3.3 หากคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด และการดำเนินคดีอื่นเกี่ยวกับความผิดนั้นหรือ ความผิดอื่นใดยังค้างการพิจารณาอยู่ในรัฐผู้โอน

4. รัฐผู้โอนยังคงไว้ซึ่งเขตอำนาจแต่ผู้เดียวเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลตน โทษตามคำพิพากษาที่กำหนดโดยศาลนั้น และขั้นตอนที่เกี่ยวกับการแก้ไข การเปลี่ยนแปลง หรือการยกเลิกคำพิพากษาและโทษตามคำพิพากษาเหล่านั้น

5. การบังคับโทษตามคำพิพากษาต่อภายหลังการโอนตัวให้เป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนของรัฐผู้รับ

6. สนธิสัญญานี้จะใช้บังคับการบังคับโทษตามคำพิพากษา ไม่ว่ามีก่อนหรือหลังสนธิสัญญานี้มีผล ใช้บังคับ

7. เมื่อภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอ ให้คู่ภาคีปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการตีความ และ/หรือ การใช้บังคับสนธิสัญญานี้

8. ให้สนธิสัญญานี้ได้รับการสัตยาบันและให้เริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร และภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจบอกเลิกสนธิสัญญานี้เมื่อใดก็ได้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ให้การบอกเลิกมีผล 6 เดือน หลังจากวันที่ภาคีอีกฝ่ายได้รับแจ้งการบอกเลิกดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ