เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
มท. เสนอว่า เนื่องจากในปัจจุบันได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ รวมทั้งได้มีผลการศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับแผ่นดินไหวภายในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ทำให้กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 มีข้อกำหนดไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวยังขาดข้อกำหนดตามมาตรา 8(3) และ (12) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การควบคุมอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพื้นที่อาคารบางประเภทซึ่งมีความเสี่ยง ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม ดังนี้
1.1 ตัดบทนิยาม “บริเวณเฝ้าระวัง”
1.2 แก้ไขบทนิยาม
“บริเวณที่ 1” หมายความว่า บริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าแผ่นดินไหวอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของอาคารและสิ่งปลูกสร้างได้
“บริเวณที่ 2” หมายความว่า บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของอาคารและสิ่งปลูกสร้างในระดับปานกลาง
1.3 เพิ่มบทนิยาม
“บริเวณที่ 3” หมายความว่า บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของอาคารและสิ่งปลูกสร้างในระดับสูง
“ผู้ออกแบบ” หมายความว่า สถาปนิกตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก วิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร หรือบุคคลอื่นที่ทำหน้าที่กำหนดเกี่ยวกับการวางผัง การจัดรูปแบบหรือรูปทรงของอาคาร
“ผู้คำนวณออกแบบ” หมายความว่า วิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรที่ทำหน้าที่จัดทำรายการคำนวณแบบแปลนและรายละเอียดในการก่อสร้างอาคารด้านวิศวกรรม รวมทั้งแก้ไขถ้อยคำที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน
2. กำหนดพื้นที่ในบริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดบริเวณเสี่ยงภัยและระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวสำหรับการก่อสร้างอาคาร ออกตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558
3. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบอาคาร โดยให้ผู้ออกแบบคำนึงถึงการจัดรูปแบบเรขาคณิตของโครงสร้างอาคารเพื่อให้มีเสถียรภาพในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว สำหรับอาคารที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ 3 และอาคารสูงในบริเวณที่ 2 ให้ผู้ออกแบบคำนึงถึงส่วนประกอบของอาคารด้านสถาปัตยกรรม เช่น ผนังภายนอก ผนังภายใน และฝ้าเพดานให้มีความมั่นคง ไม่พังทลายหรือร่วงหล่นได้โดยง่าย
4. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณออกแบบโครงสร้างอาคาร ดังนี้
4.1 ให้ผู้คำนวณออกแบบโครงสร้างอาคารที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ 3 และอาคารสูงในบริเวณที่ 2 จัดโครงสร้างทั้งระบบ และกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยชิ้นส่วนโครงสร้าง และบริเวณรอยต่อระหว่างปลายชิ้นส่วนโครงสร้างต่าง ๆ อย่างน้อยให้มีความเหนียว (ductility) เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวที่จัดทำโดยส่วนราชการอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น
4.2 การคำนวณออกแบบโครงสร้างอาคารที่ไม่อยู่ในบริเวณที่ 1 ให้ผู้คำนวณออกแบบคำนวณให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ โดยการคำนวณแรงสั่นสะเทือนดังกล่าวอย่างน้อยให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวที่จัดทำโดยส่วนราชการอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น ทั้งนี้ ผู้คำนวณออกแบบต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร และมีประสบการณ์หรือผลงานในการคำนวณออกแบบโครงสร้างอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว หรือเป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการคำนวณออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวตามที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง
4.3 การคำนวณออกแบบอาคารที่ยังไม่ได้กำหนดไว้ในมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ดังกล่าว ต้องได้รับการคำนวณออกแบบโดยหรือได้รับการรับรองจากนิติบุคคล ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และมีวิศวกรรมระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาและลงลายมือชื่อรับรองวิธีการคำนวณนั้น ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่นำมาใช้คำนวณออกแบบอาคารดังกล่าวต้องไม่น้อยไปกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กรกฎาคม 2561--