เรื่อง ผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ) เมื่อวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2561
2. เห็นชอบตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
1. ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
1.1 โครงข่ายคมนาคมทางถนน จำนวน 12 สายทาง โดย
(1) เร่งรัดปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2169 ตอนยโสธร – เลิงนกทา โดยขอขยายเป็น 4 ช่องจราจร
(2) เร่งรัดปรับปรุงถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานีฝั่งตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 231 โดยขอขยายเป็น 4 ช่องจราจร
(3) เร่งรัดปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2178 วารินชำราบ – กันทรลักษ์
(4) เร่งรัดการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 220 ตอนวังหิน – ขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
(5) เร่งรัดดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 2050 อุบลราชธานี – ตระการพืชผล โดยขอทำเป็นเกาะกลางถนนตลอดสาย
(6) เร่งรัดปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2083 + 2351 (มหาชนะชัย – ค้อวัง – ยางชุมน้อย) เป็น 4 ช่องจราจร
(7) เร่งรัดปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 202 ตอนสะพานคลองลำเซ –ปทุมราชวงศา ระยะทาง 15 กิโลเมตร และก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 202 ตอนยโสธร – อำนาจเจริญ ระยะทาง 31.925 กิโลเมตร โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร
(8) เร่งรัดปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 292 ตอนทางเลี่ยงเมืองยโสธรเป็น 4 ช่องจราจร
(9) เร่งรัดก่อสร้างถนนวงแหวนด้านทิศเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 15 กิโลเมตร
(10) เร่งรัดศึกษาความเหมาะสมของการขยายผิวจราจร สาย อจ. 3022 แยก ทล.212 – บ้านพุทธอุทยาน อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ระยะทาง 4.22 กิโลเมตร
(11) เร่งรัดการศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานพัฒนามิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 ที่ อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี และ
(12) เร่งรัดศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างถนนเชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานีโดยเชื่อมทางหลวงหมายเลข 231 ผ่านกองบิน 21 มาบรรจบถนนเข้าสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ระยะทาง 2.518 กิโลเมตร
1.2 โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ โดย
(1) เร่งรัดดำเนินการขยายอาคารสนามบินนานาชาติอุบลราชธานีให้เร็วขึ้นจากแผนที่กำหนดไว้เดิมเมื่อปี 2565 และ
(2) เร่งรัดศึกษาสนามบินมุกดาหารเพื่อนำผลการศึกษามาพิจารณาประกอบข้อเสนอที่ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้เพิ่มเติมในส่วนของสนามบินเลิงนกทาเป็นสนามบินพาณิชย์
1.3 โครงข่ายคมนาคมทางราง โดย
(1) เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ วารินชำราบ – ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และ
(2) เร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ – อำนาจเจริญ – เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม”
ข้อสั่งการ : รับทราบและให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอไปพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วนตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินโครงการด้านคมนาคมทางถนนให้คำนึงถึงการใช้ผิวถนนสำหรับการจราจรให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้ประชาสัมพันธ์โครงการที่รัฐบาลดำเนินการให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะด้วย
2. ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ไขปัญหาอุทกภัยขอรับการสนับสนุน โดย
(1) การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 40 โครงการ แยกเป็น แก้มลิง 25 โครงการ อาคารบังคับน้ำ 8 โครงการ ฝาย 3 โครงการ สูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ 3 โครงการ ระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ 1 โครงการ
(2) การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 5 โครงการ แยกเป็นประตูระบายน้ำ 4 โครงการ ระบบการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำ 1 โครงการ และ
(3) ขอให้ศึกษาความเหมาะสม จำนวน 5 โครงการ ได้แก่
(3.1) โครงการศึกษาความเหมาะสมทางผันน้ำฝั่งขวาลำน้ำมูลเพื่อบรรเทาอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี
(3.2) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง (พื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และยโสธร)
(3.3) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลำเซบาย
(3.4) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลำเซบก และ
(3.5) โครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองยโสธร
ข้อสั่งการ : ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการ โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการ รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมรับไปศึกษาและสนับสนุนการสำรวจเส้นทางน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากมีความพร้อมและความจำเป็นเร่งด่วนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานสำนักงบประมาณพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาดำเนินการในโอกาสแรก
3. ด้านการยกระดับด้านการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรขอรับการสนับสนุน ประกอบด้วย
(1) โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยขอเสนอโครงการสร้างพื้นที่สำหรับพัฒนาเกษตรกรและบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startups และ SMEs อย่างครบวงจรเพิ่มเติม โดยเชื่อมโยงกับโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Science Park) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการดำเนินงานอยู่แล้วในพื้นที่
(2) โครงการยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ โดยขอรับการสนับสนุนนโยบายและบูรณาการการทำงานของส่วนงานราชการในพื้นที่และส่วนกลางเพื่อขับเคลื่อนประเด็นด้านเกษตรอินทรีย์ และ
(3) ขอให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 โดยประกาศให้เป็นพื้นที่ Bio Hub ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม
ข้อสั่งการ :
(1) ให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยขอเสนอโครงการสร้างพื้นที่สำหรับพัฒนาเกษตรกรและบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startups และ SMEs อย่างครบวงจรเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป
(2) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ โดยให้มีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม
(3) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่กล่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เพื่อยกระดับเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) ตามนโยบายรัฐบาล
4. ด้านคุณภาพชีวิต ขอรับการสนับสนุน โดย
(1) โครงการเพิ่มศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
(2) ศูนย์การแพทย์แผนไทย – พนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจร และ (3) ครุภัณฑ์ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม โดยจัดบริการห้องผ่าตัดสำหรับแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ตา ระบบทางเดินปัสสาวะและศัลยกรรมทั่วไป
ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงสาธารณสุขรับข้อเสนอไปพิจารณาความเหมาะสมและจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วน โดยให้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์สถานพยาบาลที่มีอยู่ในพื้นที่ให้คุ้มค่าและความจำเป็นในการให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชนก่อนให้การสนับสนุนตามขั้นตอนต่อไป
5. ด้านการท่องเที่ยว ขอรับการสนับสนุน โดย
(1) โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเส้นทางท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการค้าชายแดน ทางหลวงหมายเลข 217 วารินชำราบ – ช่องเม็ก โดยขอทำเป็นเกาะกลางถนนตลอดสาย
(2) โครงการเพิ่มศักยภาพการเดินทางบนทางหลวงสายหลักเขาพระวิหาร ทางหลวงหมายเลข 221 ตอนศรีสะเกษ – ภูเงิน-กันทรลักษณ์-เขาพระวิหาร ระยะทาง 50 กิโลเมตร โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย
(3) พัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงและการค้าชายแดนเส้นทาง 2112+2222 เขมราฐ – โขงเจียม – พิบูลมังสาหาร โดยขยายความกว้างของถนนและไหล่ทางเส้นทางจราจรตลอดสาย
(4) ขอรับสนับสนุนกลไกการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชายแดนช่องเม็กให้เป็นเมืองศูนย์การค้าชายแดน
(5) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิมานพญาแถน จ.ยโสธร โดยย้ายเรือนจำเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ และ
(6) การศึกษาและออกแบบอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จังหวัดอำนาจเจริญ
ข้อสั่งการ :
(1) รับทราบและให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณา
(1) โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเส้นทางท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการค้าชายแดน ทางหลวงหมายเลข 217 วารินชำราบ – ช่องเม็ก โดยขอทำเป็นเกาะกลางถนนตลอดสาย
(2) โครงการเพิ่มศักยภาพการเดินทางบนทางหลวงสายหลักเขาพระวิหาร ทางหลวงหมายเลข 221 ตอน ศรีสะเกษ –ภูเงิน –กันทรลักษณ์ – เขาพระวิหาร ระยะทาง 50 กม. โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย และ
(3) พัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงและการค้าชายแดนเส้นทาง 2212+2222 เขมราฐ –โขงเจียม – พิบูลมังสาหาร โดยขยายความกว้างของถนนและไหล่ทางเส้นทางจราจรตลอดสาย ตามขั้นตอนต่อไป
(2) ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชายแดนช่องเม็กให้เป็นเมืองศูนย์การค้าชายแดนและรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
(3) ให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปพิจารณาการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิมานพญาแถน จังหวัดยโสธร โดยย้ายเรือนจำเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ตามที่เสนอ ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องมีแผนและกลไกการบริหารจัดการท่องเที่ยววิมานพญาแถนรองรับเพื่อไม่ให้เป็นภาระของภาครัฐในอนาคต รวมทั้งต้องมีแผนและมาตรการรองรับผลกระทบด้านสังคมที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนบริเวณใกล้เคียงในอนาคตด้วย
(4) ให้กระทรวงมหาดไทยประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปพิจารณาในรายละเอียดถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการขอรับการสนับสนุนให้มีการศึกษาและออกแบบอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จังหวัดอำนาจเจริญ ตามขั้นตอนต่อไป
ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม
ให้ทุกกระทรวงและจังหวัดไปเร่งรัดดำเนินการพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดระบบการผลิตที่ครบวงจร สำหรับสินค้าเกษตรคุณภาพ ทั้งด้านการตลาดและระบบโลจิสติกส์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กรกฎาคม 2561--