เรื่อง การจัดทำและลงนามร่างความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC)
1. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทย สำหรับการลงนามในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2561 ณ ประเทศเนปาล
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้ วท. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
3. มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้กับผู้ลงนามในข้อ 2
สาระสำคัญของเรื่อง
1. BIMSTEC มีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกในรูปแบบการฝึกอบรม การค้นคว้าวิจัย และการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในสาขาต่าง ๆ โดยในสาขาเทคโนโลยีมีประเทศศรีลังกาเป็นประเทศนำ (Lead Country)
2. ในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 – 14 พฤศจิกายน 2551 ณ ประเทศอินเดีย ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี BIMSTEC และในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี BIMSTEC ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2560 ณ ประเทศศรีลังกา ที่ประชุมเห็นชอบต่อร่างเอกสารจำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี BIMSTEC สำหรับลงนามในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 -31 สิงหาคม 2561 ณ ประเทศเนปาล และ 2) ร่างเอกสารค่าใช้จ่ายการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี BIMSTEC
สำหรับร่างความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้ BIMSTEC มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยจะจัดตั้ง ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และประเทศสมาชิกจะแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารของศูนย์ฯ วาระ 3 ปี เพื่อร่วมกำหนดนโยบาย กลไก แผนงานและดำเนินการกับศูนย์ฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ระหว่างประเทศสมาชิก ใน 14 สาขา ได้แก่
(1) เทคโนโลยีชีวภาพ
(2) นาโนเทคโนโลยี
(3) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ
(5) เทคโนโลยีการเกษตร
(6) เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร
(7) เทคโนโลยีเภสัชกรรม
(8) ระบบอัตโนมัติ
(9) เทคโนโลยีพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน
(10) สมุทรศาสตร์
(11) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์
(12) เทคโนโลยีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะมูลฝอย
(13) เทคโนโลยีสุขภาพ และ
(14) เทคโนโลยีลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับข้อพิพาทใด ๆ ระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการตีความและ/หรือการดำเนินการตามความตกลงฉบับนี้จะถูกระงับอย่างฉันมิตรด้วยการปรึกษาหารือและ/หรือการเจรจาด้วยหลักสุจริต ปราศจากการอ้างถึงบุคคลที่สามหรือศาลระหว่างประเทศ ทั้งนี้ บทบัญญัติใด ๆ ของความตกลงฉบับนี้อาจได้รับการแก้ไขโดยความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันของประเทศสมาชิกและจะมีผลบังคับใช้เมื่อกระบวนการที่จำเป็นทั้งหมดของประเทศสมาชิกเสร็จสิ้น
1. ประเทศไทยมีโอกาสร่วมกำหนดนโยบาย กลไก และแผนงานที่มีประสิทธิภาพในการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของประเทศได้
2. การสร้างโอกาสของประเทศไทยในการขยายเครือข่ายและเจรจาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ
3. การสร้างโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบาย แผนงานและรูปแบบการสนับสนุน และพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศสมาชิกในด้านการสรรหาเทคโนโลยี การประเมินผลเทคโนโลยี การประเมินตลาดและการจัดการสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิก
4. ผู้เชี่ยวชาญไทยมีโอกาสเข้าร่วมศึกษาทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น พืชผักผลไม้ พืชสมุนไพรในประเทศศรีลังกา อินเดีย ภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกเป้าหมายที่ไทยสนใจริเริ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ และต่อยอดองค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรสู่ตลาดโลก เป็นต้น
5. การบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อสร้างเครือข่ายฝ่ายไทยเข้าร่วมกิจกรรม โครงการภายใต้ศูนย์ฯ เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของบุคลากรไทย ให้ยกระดับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี
6. ผู้เชี่ยวชาญไทยสามารถเข้าร่วมบริหารงานของศูนย์ฯ ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวิชาการแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้
7. การรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในกรอบพหุภาคี BIMSTEC
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 สิงหาคม 2561--