1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ก่อนการเสนอพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นโดยทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ
3. ให้สำนักงานอัยการสูงสุดรับความเห็นของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
4. ให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นโดยทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม ต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วน
เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยกำหนดลักษณะความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน กำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว และกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าวทั้งระหว่างหน่วยงานภายในและระหว่างประเทศ โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นโดยทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรมที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีไว้ อันจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อประชาคมโลกที่แสดงถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือ และเป็นที่เหมาะสมต่อการลงทุนและการท่องเที่ยว และทำให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่มีความสอดคล้องกับพันธกรณีตามพิธีสารดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 กันยายน 2561--