ขออนุมัติดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา

ข่าวการเมือง Wednesday September 26, 2018 08:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และอนุมัติกรอบวงเงินตามความเห็นของสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 286,678,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว และมีข้อสั่งการ “ปลูกในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย” โดยกรอบวงเงินดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้

1. ค่าบริหารจัดการโครงการ จำนวน 103,678,000 บาท เห็นควรให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จากโครงการที่มีลำดับความสำคัญน้อยกว่าในโอกาสแรกก่อน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ จัดเวทีชุมชนรับสมัครเกษตรกร จัดเวทีวางแผนการผลิตการตลาด อบรมเกษตรกร ติดตามประเมินผล และสรุปบทเรียน

2. ค่าชดเชยดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 168,000,000 บาท ประกอบด้วย

1) ค่าชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 60,000,000 บาท และ

2) ค่าชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร จำนวน 108,000,000 บาท เห็นควรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

3. ค่าปรับปรุงและจัดทำแอพพลิเคชั่น จำนวน 15,000,000 บาท เห็นควรให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จากโครงการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ซึ่งได้ตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว จำนวน 133,936,600 บาท

4. สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท จำนวน 2,000,000 ไร่ เนื่องจากการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติ ขาดความชัดเจนของการประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการประกันภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัย จำนวนของพื้นที่การเพาะปลูก ประเภทของภัยที่จะคุ้มครอง อัตราเบี้ยประกันภัย วงเงินความคุ้มครอง และความซ้ำซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเห็นสมควรเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบพิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อนและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ภาระที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนัยมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สำหรับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลของปริมาณการผลิตการตลาดข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน จากกิจกรรมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูนาปรัง และเพื่อให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพในการผลิตสินค้า ลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ ในพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทานที่มีความเหมาะสม ตาม Zoning by Agri – Map ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด ดังนี้

ภาค จังหวัด

ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี

ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สระบุรี

ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี

คุณสมบัติเกษตรกร เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกรกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีความประสงค์ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในนาช่วงฤดูแล้ง โดยพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำและอยู่ในพื้นที่ที่โครงการกำหนด ทั้งนี้ เกษตรกรต้องมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. ยกเว้นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกร และมีความประสงค์ขอรับสินเชื่อจากสถาบันเกษตรกร

โดยมีมาตรการจูงใจให้กับเกษตรกร ด้วยการจัดหาปัจจัยการผลิตและการเตรียมดิน โดยจะให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่สามารถขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ผู้ขอสินเชื่อ / รายละเอียด / การชำระเงินกู้

1. เกษตรกร

  • กรณีเกษตรกรขอรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ผ่านบัตรเกษตรสุขใจหรือใบจัดหาปัจจัยการผลิตกับร้านจำหน่ายการผลิตที่ขึ้นทะเบียนตามโครงการ
  • ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินไร่ละ 2,000 บาท (ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย) เป้าหมายพื้นที่ 2 ล้านไร่ แบ่งเป็น

(1) เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี

(2) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน

  • ชำระคืนไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันกู้
  • กรณีมีเหตุจำเป็นไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันกู้
  • กรณีไม่ชำระหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนดชำระ ให้ ธ.ก.ส. สามารถคิดดอกเบี้ยเพิ่มกับเกษตรกรเป็นไปตามประกาศของธนาคาร

2. สถาบันเกษตรกร

  • ชำระคืนไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันกู้
  • กรณีสถาบันเกษตรกรไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ให้ ธ.ก.ส. สามารถคิดดอกเบี้ยเพิ่มกับสถาบันเกษตรกรเป็นไปตามประกาศของธนาคาร ทั้งนี้การพิจารณาสินเชื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 กันยายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ