1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานศาลยุติธรรม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอ
3. ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) รับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
1. กำหนดคำนิยาม “ดิจิทัล” หมายความว่า เทคโนโลยีที่ใช้วิธีการนำสัญลักษณ์ศูนย์และหนึ่งหรือสัญลักษณ์อื่นมาแทนค่าสิ่งทั้งปวง เพื่อใช้สร้าง หรือก่อให้เกิดระบบต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ และ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานอิสระของรัฐ และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคล คณะบุคคล หรือบุคคล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานของรัฐไม่ว่าในการใด ๆ
2. กำหนดให้ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับเอกสาร การพิสูจน์และยืนยันตัวตน กระบวนการทำงานและการบริการของหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ หากหน่วยงานของรัฐได้จัดทำเอกสาร จัดทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือจัดทำกระบวนการทำงานและการบริการด้วยวิธีการทางดิจิทัลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ถือว่าเอกสาร การพิสูจน์และยืนยันตัวตนและกระบวนการทำงาน และการบริการดังกล่าวมีผลโดยสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้นกำหนดไว้
3. กำหนดให้มีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีความชัดเจน สอดคล้องกันระหว่างทุกหน่วยงานของรัฐ และมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศ ให้คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องและเสนอคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจัดทำหรือปรับปรุงแผนปฏิบัติการหรือแผนงานที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจหลักให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล และต้องปรับปรุงข้อมูลดิจิทัลนั้นให้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความสมบูรณ์และสามารถใช้ได้ รวมทั้งมีความถูกต้อง ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐอื่น และนำไปประมวลผลต่อได้ หากข้อมูลดังกล่าวได้จัดทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแปลงข้อมูลดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลด้วย
5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องมีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากประชาชน ให้จัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลเป็นอีกช่องทางหนึ่งด้วย และสามารถตกลงกับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นให้จัดเก็บเงินแทนหน่วยงานตนเองได้ ทั้งนี้ให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดให้น้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรืออัตราที่ใช้จัดเก็บอยู่ หรือยกเว้นการจัดเก็บ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางดิจิทัลของหน่วยงาน
6. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนหรือเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลที่มีการจัดทำและครอบครองกับหน่วยงานของรัฐอื่นผ่านระบบและเครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสารตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยอย่างน้อยต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
7. กำหนดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ เพื่อรองรับและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทะเบียนดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ กำหนดนโยบายและมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ รวมทั้งจัดทำบัญชีข้อมูลหลักของภาครัฐ และจัดเก็บบันทึกหลักฐานของการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล ตลอดจนให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้
8. กำหนดให้ สพร. จัดทำระบบบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อเชื่อมโยงไปยังบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้รองรับการเชื่อมโยงดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัยในจุดเดียว
9. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ถูกต้องและทันสมัย และไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อภาคส่วนอื่น ๆ เว้นแต่ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีกฎหมายกำหนดมิให้มีการเปิดเผย โดยเปิดเผยในรูปแบบมาตรฐานเปิด ซึ่งสามารถให้เข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดการพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้
10. กำหนดให้มีคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำมาตรฐานและหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รายงานคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีมติสั่งการหรือยับยั้งการดำเนินการของหน่วยงานใดที่ไม่เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กำกับและติดตามการดำเนินงานของศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ และศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ
11. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายในห้าปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้หน่วยงานนั้นทำแผนเสนอคณะกรรมการเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เว้นแต่กรณีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หน่วยงานของรัฐต้องไม่เรียกเอกสารสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองนิติบุคคล บัตรประจำตัวผู้เสียภาษี หนังสือรับรองการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจากบุคคลที่ต้องการเป็นผู้ค้ากับภาครัฐ เว้นแต่บุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าวมิได้มีข้อมูลปรากฏอยู่ในระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2561--