1. รับทราบแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเกษตรกรลูกหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. จะปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน (กฟก.) จำนวน 36,605 ราย ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ด้วยการพักเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน สำหรับเงินต้นอีกครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระตามกรอบเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-3 เมื่อเกษตรกรผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่เรียบร้อยแล้ว ดอกเบี้ยที่พักไว้ ธ.ก.ส. จะพิจารณายกให้เกษตรกร ส่วนเงินต้นที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้นำมาปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้ดุลพินิจของเจ้าหนี้ที่จะพิจารณาศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย โดยใช้หลักการที่เป็นธรรมและไม่มีผลกระทบต่อภาระของเกษตรกร ทั้งนี้ ให้ กฟก. ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถนำมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ภายในกำหนดเวลาและมีรายได้ในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
2. เห็นชอบให้การดำเนินการตามโครงการนี้ของ ธ.ก.ส. เป็นงบการเงินธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง (กค.) โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเร่งปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในปีแรกทั้งจำนวน 36,605 ราย และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ภายหลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงการคลังเร่งรัดตรวจสอบข้อมูลสถานะหนี้สินของเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่เหมาะสมในระยะยาวเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยั่งยืน แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 [เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร จำนวน 478 ราย ตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.)]
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2561--