1. เห็นชอบให้ส่งร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างความตกลงดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอีก
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนาม ในร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ร่างความตกลงดังกล่าวแล้ว
4. มอบหมายให้ พณ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดในร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน
5. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนว่าไทยพร้อมที่จะให้ ร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนมีผลผูกพันต่อไป เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่างความตกลงดังกล่าว
ร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (The ASEAN Agreement on Electronic Commerce) มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน พัฒนาความเชื่อมั่นของการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาและขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญประกอบด้วย 19 ข้อบท แบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้
1. การอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่ การส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ โดยขยายการใช้เอกสารการดำเนินการทางการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแลกเปลี่ยนเอกสารดังกล่าว และการยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยจะไม่ปฏิเสธความถูกต้องทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และมีมาตรการที่เกี่ยวข้องบนพื้นฐานของแนวปฏิบัติสากล
2. การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ โดยมีมาตรการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับที่ใกล้เคียงกับการค้าในรูปแบบอื่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ โดยมีมาตรการที่คำนึงถึงหลักการและแนวทางสากล ความมั่นคงไซเบอร์ โดยพัฒนาความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความโปร่งใสโดยเผยแพร่มาตรการที่เกี่ยวข้อง
3. การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ได้แก่ การส่งเสริมการโอนข้อมูลข้ามพรมแดนด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ และการไม่กำหนดให้ต้องตั้งอุปกรณ์ประมวลผลไว้ในประเทศ ซึ่งจะไม่รวมถึงสาขาบริการทางการเงินและขึ้นกับกฎระเบียบภายในประเทศ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่งเสริมระบบที่ปลอดภัยและมั่นคง มีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกันได้ และระบบโลจิสติกส์ โดยให้ความสำคัญกับโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องพยายามลดต้นทุน ปรับปรุงความเร็ว และพัฒนาความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทานให้ดีขึ้น
4. ความร่วมมือระหว่างสมาชิกและการมีส่วนรวมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
5. ข้อบททั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับการนำร่างความตกลงฯ ไปบังคับใช้
ทั้งนี้ ร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนจะมีผลใช้บังคับเมื่อได้มีการเก็บรักษาตราสารการอนุวัติการให้สัตยาบันหรือการยอมรับโดยกลุ่มรัฐสมาชิกกับเลขาธิการอาเซียน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2561--