ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

ข่าวการเมือง Wednesday October 10, 2018 17:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงการคลัง ที่สำนักงานคณะกรรมการกฎษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้เสนอคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1.1 กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจประกันชีวิต

1.2 แก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต กรณีบุคคลล้มละลายทุจริตเป็นลักษณะต้องห้าม และกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมีอำนาจประกาศกำหนดหลักสูตร วิธีการ และเงื่อนไขในการสอบความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิต

1.3 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายหน้าประกันชีวิตให้มีความเหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น กำหนดหน้าที่และความรับผิดของนายหน้าประกันชีวิตและกำหนดให้นายหน้าประกันชีวิตทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่มีการชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทต้องได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต

1.4 กำหนดอำนาจของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติของตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต

1.5 กำหนดเหตุและขั้นตอนในการดำเนินการการพักใช้ใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต

1.6 กำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งและระยะเวลาที่คณะกรรมการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ

1.7 กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดต่าง ๆ เพิ่มเติม

1.8 กำหนดบทเฉพาะกาล ดังนี้

1.8.1 กำหนดบทเฉพาะกาลกรณีตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต ที่ออกใบอนุญาตให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้

1.8.2 เร่งรัดหน่วยงานในการออกกฎหมายลำดับรอง

1.8.3 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

2. ร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจประกันวินาศภัย

2.2 กำหนดให้การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประเมินวินาศภัยต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประเมินวินาศภัย กำหนดอายุใบอนุญาต การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประเมินวินาศภัย รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในการอุทธรณ์คำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ

2.3 เพิ่มกรณีบุคคลล้มละลายทุจริตเป็นลักษณะต้องห้ามและกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมีอำนาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับการได้รับการศึกษาวิชาประกันวินาศภัย

2.4 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายหน้าประกันวินาศภัยให้มีความเหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น

2.5 กำหนดอำนาจของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติของตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย

2.6 กำหนดเหตุและขั้นตอนการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันวินาศภัย

2.7 กำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งและระยะเวลาที่คณะกรรมการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ

2.8 กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดต่าง ๆ เพิ่มเติม

2.9 กำหนดบทเฉพาะกาล ดังนี้

2.9.1 กำหนดบทเฉพาะกาลกรณีผู้ประเมินวินาศภัยที่ออกใบอนุญาตให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปอีกหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

2.9.2 กำหนดบทเฉพาะกาลกรณีตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัยที่ออกใบอนุญาตให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้

2.9.3 เร่งรัดหน่วยงานในการออกกฎหมายลำดับรอง

2.9.4 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 ตุลาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ