คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ในฐานะคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทยให้ความเห็นชอบเอกสารร่างหลักการสำคัญเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเอกสารร่างหลักการสำคัญเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน (The ASEAN Good Regulatory Practices (GRP) Core Principles) ที่คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะให้ความเห็นชอบ มีสาระไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รวมทั้งจะไม่มีการลงนามเอกสารดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ร่างหลักการสำคัญเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาแนวปฏิบัติด้านกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎระเบียบภายในภูมิภาค ซึ่งหลักการสำคัญเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียนไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่องค์กรรายสาขาและประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งหลักการสำคัญเรื่อง GRP ของอาเซียน ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 6 ประการ คือ
(1) มีความชัดเจนของนโยบาย วัตถุประสงค์ และกรอบเชิงสถาบัน กฎระเบียบต้องประกอบด้วยเหตุผลทางนโยบายที่มีความชัดเจน มีการระบุวัตถุประสงค์ นอกจากนั้น ต้องมีการระบุหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้ปฏิบัติและหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องกำหนดและให้อำนาจการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเหมาะสมสำหรับหน่วยงานผู้ปฏิบัติ รวมไปถึงการกำหนดความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(2) สร้างประโยชน์โดยก่อให้เกิดต้นทุนและการบิดเบือนตลาดน้อยที่สุด กฎระเบียบต้องก่อให้เกิดต้นทุน ความเสี่ยง และผลกระทบเชิงลบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ทั้งนี้ ในบริบทของอาเซียนจะมุ่งเน้นให้การปฏิบัติตามพันธกรณีในภูมิภาคเกิดต้นทุนน้อยที่สุด
(3) มีความสอดคล้อง โปร่งใส และสามารถนำไปปฏิบัติได้ กฎระเบียบต้องไม่มีความซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ ในบริบทของอาเซียน กฎระเบียบนั้นต้องมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และพันธกรณีหรือข้อริเริ่มของสาขาต่าง ๆ และกฎระเบียบต้องมีความโปร่งใส โดยคำนึงถึงผู้ใช้กฎระเบียบให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
(4) สนับสนุนความร่วมมือด้านกฎระเบียบในภูมิภาค กฎระเบียบต้องอาศัยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือการปรับประสานกฎเกณฑ์ร่วมกันระหว่างภาครัฐ หน่วยงานผู้กำกับดูแลกฎระเบียบและหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลนั้น รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในบริบทของอาเซียน จะอาศัยความร่วมมือและการประสานงานระหว่างองค์กรรายสาขาหรือหน่วยงานของประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้อง
(5) สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการวางแนวทางการสร้างความร่วมมือของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอนของกระบวนการออกกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม
(6) มีการทบทวนความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ต้องมีระบบประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของกฎระเบียบหลังมีผลบังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ และภายหลังการประเมินผลควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบตามความเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 ตุลาคม 2561--