ร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Wednesday October 24, 2018 17:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. .... ของกระทรวงยุติธรรม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดบทนิยาม “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล และในชั้นการบังคับคดี

2. กำหนดให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยหน่วยงานของรัฐและไม่เป็นการต้องห้ามหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยอยู่แล้วจะดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การไกล่เกลี่ยโดยอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 การไกล่เกลี่ยโดยสำนักงานอัยการสูงสุดตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานอัยการ พ.ศ. 2555

3. กำหนดห้ามมิให้ผู้ไกล่เกลี่ยกระทำการหรือจัดให้กระทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท

4. กำหนดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถกระทำการไกล่เกลี่ยได้ ส่วนข้อพิพาททางแพ่งที่สามารถไกล่เกลี่ยได้มี 4 ประการ ดังนี้

(1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินซึ่งมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์

(2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก

(3) ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(4) ข้อพิพาทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

5. กำหนดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา โดยแยกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

(1) ความผิดอันยอมความได้

(2) ความผิดลหุโทษตามมาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(3) ความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนด ในพระราชกฤษฎีกา

ทั้งนี้ เมื่อคู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันแล้ว ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเฉพาะคู่กรณีซึ่งทำข้อตกลงดังกล่าว

6. กำหนดให้ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลแล้ว ให้หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแจ้งให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี ทราบ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล อาจรอการสอบสวน การสั่งคดี การพิจารณาคดี หรือการพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี ไว้ก่อนจนกว่าจะรู้ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

7. กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยกำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งข้อพิพาทที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ดำเนินการได้ ประกอบด้วย

(1) ข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(2) ข้อพิพาททางแพ่งอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(3) ข้อพิพาททางอาญาตามมาตรา 34

8. กำหนดบทกำหนดโทษผู้ไกล่เกลี่ยผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิ้นปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ตุลาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ