1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการการจัดตั้งสำนักงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อไป
4. ให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. กำหนดบทบาทของคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เพิ่มมากขึ้นให้เป็นองค์กรบริหารและผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดยุทธศาสตร์การกระจายหน้าที่และอำนาจฯ และนโยบายการกระจายหน้าที่และอำนาจฯ รวมถึงเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ อาทิ มาตรการแนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการบูรณาการภารกิจฯ การจัดสรรเงินงบประมาณที่จัดสรรเพิ่มขึ้นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดจนมีหน้าที่ประสานกับส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด
2. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ยกระดับจากกองภายใต้ สปน.) โดยเป็นสำนักงานเลขานุการของ ก.ก.ถ. และรับผิดชอบในงานเลขานุการและกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. กำหนดหลักการการกระจายหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ การถ่ายโอนภารกิจ การจัดสรรภาษีอากร และการถ่ายโอนและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจัดตั้งองค์การมหาชนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะหรือขยายบริการสาธารณะอันเป็นประโยชน์ของประชาชน โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ก.ก.ถ. และให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
4. กำหนดหลักการในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เพื่อดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้
5. กำหนดกลไกและขั้นตอนการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้มียุทธศาสตร์การกระจายหน้าที่และอำนาจ และการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6. กำหนดให้มีเป้าหมายการจัดบริการสาธารณะและการติดตามประเมินผลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่หน่วยงานของรัฐเคยให้บริการแก่ประชาชน และกำหนดให้มีการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชนและให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
7. กำหนดให้มีการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น และการพิจารณารายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการจัดเก็บเองมากขึ้น
8. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร รวมทั้งการจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรที่จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ได้ต่อไป จนกว่ากฎหมายว่าด้วยรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ตุลาคม 2561--