ขออนุมัติการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และทบทวนการชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ข่าวการเมือง Wednesday October 24, 2018 18:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และทบทวนการชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา อัตราเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด ครอบคลุมเกษตรกรผู้เอาประกันภัยประมาณ 150,000 ราย รวมวงเงินไม่เกิน 130 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการ ดังนี้

1.1 ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามขั้นตอนต่อไป

1.2 เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้ขอเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปีการผลิต 2561/62

2. ทบทวนการชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในประเด็นดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากร้อยละ 3.01 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน เป็นอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี เกษตรกรผู้กู้รับภาระร้อยละ 0.01 ต่อปี รัฐบาลชดเชยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน วงเงินงบประมาณ 79.8 ล้านบาท ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 อนุมัติให้แล้ว จำนวน 60 ล้านบาท โดยอนุมัติจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 19.8 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กับ ธ.ก.ส.

3. มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาระดับอำเภอ ทำหน้าที่ตรวจสอบเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการรับรองความเสียหายของเกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในเขตการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและจัดส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ดังนี้

หัวข้อ / รายละเอียด

1. วัตถุประสงค์

เพื่อใช้ระบบประกันภัยในการดูแลความเสี่ยงภัยธรรมชาติ รูปแบบเดียวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี และคุ้มครองต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา

2. พื้นที่เป้าหมาย

2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด (ภาคเหนือ จำนวน 15 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 15 จังหวัด ภาคกลาง จำนวน 2 จังหวัด และภาคตะวันออก จำนวน 1 จังหวัด) ครอบคลุมเกษตรกรผู้เอาประกันภัยประมาณ 150,000 ราย

3. เงื่อนไขการรับประกันภัย

3.1 ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคลที่ระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และ/หรือในใบรับรองการประกันภัยนี้ ทั้งนี้ จะต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเท่านั้น และที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2561/62 กับกรมส่งเสริมการเกษตร

3.2 รูปแบบการเอาประกันภัย คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย

3.3 อัตราเบี้ยประกันภัย จำนวน 65 บาท/ไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

4. วงเงินคุ้มครอง

4.1 หมวดความคุ้มครองที่ 1 ได้รับวงเงินคุ้มครอง จำนวน 1,500 บาท/ไร่ จากความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ หรือภัยจากช้างป่า ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ในระยะเวลาเอาประกันภัย

4.2 หมวดความคุ้มครองที่ 2 ได้รับวงเงินคุ้มครอง จำนวน 750 บาท/ไร่ จากความเสียหายจากศัตรูพืชหรือโรคพืชระบาด ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในระยะเวลาเอาประกันภัย

5. การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล

รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย ในพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ งบประมาณรวม 130 ล้านบาท

6. ระยะเวลาเอาประกันภัย

ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ถึงวันสุดท้ายที่ต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2561/62 ยังคงยืนต้นอยู่ในแปลงเพาะปลูกก่อนการเก็บเกี่ยว (วันเพาะปลูกไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2562)

7. การจ่ายค่าสินไหมทดแทน

ผู้รับประกันภัยจะพิจารณาจ่ายสินไหมทดแทนจากแบบรายงานข้อมูล ความเสียหายจริงเพื่อรับค่าสินไหมทดแทน (กษ 02 เพื่อการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) กับทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2561/62 กับกรมส่งเสริมการเกษตร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ตุลาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ