1. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 15 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างถ้อยแถลงร่วมฯ นี้ ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พน. และคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 เป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การดำเนินงานและความสำเร็จของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการบรรลุเป้าหมายตามแผน APAEC พ.ศ. 2559 – 2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2563 ซึ่งให้ความสำคัญในการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานในอาเซียน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมการใช้พลังงาน รวมถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้ครอบคลุมกว้างขวางในภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาพรวม นอกจากนั้นยังส่งเสริมการพัฒนาแนวทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและนโยบายที่แข็งแกร่งเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงานในอนาคตของภูมิภาค การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด รวมถึงโครงการซื้อขายไฟฟ้าระดับพหุภาคีภายใต้โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง ลาว ไทย และมาเลเซีย และผลักดันโครงการบูรณาการฯ ให้มีการซื้อขายไฟฟ้าฟ้าเพิ่มขึ้น และได้มีการแสดงความยินดีกับการลงนาม บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียน และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (Memorandum of Understanding (MOU) between the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the International Renewable Energy Agency (IRENA)
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 ครั้งที่ 15 เป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การให้ความสำคัญของความร่วมมือด้านพลังงานและการบูรณาการตลาดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและการพัฒนานโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมถึงการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้าใจสาธารณะในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 เป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การให้ความสำคัญของการดำเนินความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งสามารถเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจความมั่นคงด้านพลังงานและระบบนิเวศที่ยั่งยืนของภูมิภาค การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นสำหรับภาคขนส่งและภาคอื่น ๆ การส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง อาทิ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) การใช้เทคโนโลยีการปล่อยมลพิษต่ำ อาทิ การใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสำหรับภาคคมนาคม และการเน้นย้ำบทบาทสำคัญของก๊าซธรรมชาติในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ตุลาคม 2561--