1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานอัยการสูงสุด ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
1. บทนิยาม
1.1 กำหนดบทนิยาม “การประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน” หมายความว่า การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับค่าบริการหรือค่าตอบแทนอย่างอื่น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ
1.2 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
2. หมวด 1 คณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
2.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินมีมาตรฐาน และอยู่ภายใต้ระบบควบคุมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเดียวกัน จำนวน 15 คน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ให้คำแนะนำหรือเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนด ปรับปรุง และพัฒนามาตรฐานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจดทะเบียนของนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เป็นต้น
2.2 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เป็นกรรมการและเลขานุการ
3. หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของ กค. เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยมีผู้อำนวยการที่มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างและรับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงาน และให้มีอำนาจในการวางระเบียบการปฏิบัติงานของสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน
4. หมวด 3 การประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
กำหนดให้ผู้อำนวยการเป็นนายทะเบียน มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตรับขึ้นทะเบียน รักษาทะเบียนผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาต และทะเบียนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการจัดให้มีมาตรฐานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาต โดยออกเป็นกฎกระทรวง
5. หมวด 4 จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
5.1 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ จัดให้มีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยออกเป็นกฎกระทรวง โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้
5.1.1 การปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
5.1.2 ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ
5.1.3 ความซื่อสัตย์สุจริต ความโปร่งใส ความเป็นอิสระและความเที่ยงธรรม
5.1.4 ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ
5.1.5 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการปฏิบัติงาน
5.1.6 หลักปฏิบัติต่อผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินอื่น และสมาคมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
5.1.7 ข้อควรปฏิบัติที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
5.2 กำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดการประพฤติผิดจรรยาบรรณ โดยทำเป็นคำสั่ง และให้มีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่า ทรัพย์สินได้
6. หมวด 5 การตรวจสอบและการบัญชี
กำหนดให้สำนักงานวางและรักษาไว้ซึ่งบัญชีที่เป็นไปตามหลักสากลและสอดคล้องกับระบบการบัญชีที่ กค. วางไว้ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน
7. หมวด 6 บทเบ็ดเตล็ด
กำหนดให้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในที่ดิน อสังหาริมทรัพย์หรือสถานที่อื่นใด ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน หรือเข้าไปในสถานที่ประกอบการของผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาตหรือนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน หรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานใด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบมาตรฐานการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยให้กรรมการ อนุกรรมการ นายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
8. หมวด 7 บทกำหนดโทษ
มีบทกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่ได้รับอนุญาต ใบอนุญาตขาดอายุ นิติบุคคลใดประกอบกิจการให้บริการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยไม่ได้รับจดทะเบียน รวมทั้งกำหนดให้มีการเปรียบเทียบความผิด โดยเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบแล้วให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน
9. บทเฉพาะกาล
กำหนดให้ในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ให้กรมธนารักษ์จัดให้มีสำนักงานและมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของกรมธนารักษ์เข้าร่วมปฏิบัติงานในสำนักงานได้เป็นการชั่วคราว แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 ตุลาคม 2561--