การปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และสิทธิประโยชน์สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa)

ข่าวการเมือง Tuesday November 6, 2018 18:05 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ดังนี้

1.เห็นชอบคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และสิทธิประโยชน์ภายใต้การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa)

2.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และ สกท. แก้ไขประกาศ คำสั่ง และคำชี้แจงที่เกี่ยวกับ Smart Visa เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอ Smart Visa ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (ตามข้อ 1.)

3.มอบหมายให้ สกท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รับรองและดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง Smart Visa เพิ่มเติม ดังนี้

3.1 สถาบันอนุญาโตตุลาการในประเทศ เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center : THAC) มีหน้าที่รับรองการปฏิบัติภารกิจในการบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกในราชอาณาจักรของผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง

3.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มีหน้าที่รับรองบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Company) ซึ่งได้รับการร่วมลงทุนจากภาครัฐหรือมีการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

3.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) มีหน้าที่รับรองแผนการจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

3.4 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สกท. และสนช. มีหน้าที่รับรองกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นในลักษณะ Startup Camp* [Startup Camp คือ กิจกรรม หลักสูตร หรือโครงการที่เป็นลักษะส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)]

4. มอบหมายให้ ตม. อำนวยความสะดวกให้ผู้ถือ Smart Visa สามารถใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีบริการช่องทางพิเศษ

5. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม พิจารณายกเว้นการแสดงใบอนุญาตทำงานประกอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การทำใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล การขอยกเว้นภาษีอากรในการนำเข้าของใช้ส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือน การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี สำหรับคนต่างชาติซึ่งได้รับ Smart Visa ดังนี้

5.1 ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง คู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

5.2 นักลงทุน และคู่สมรส

5.3 ผู้บริหารระดับสูง และคู่สมรส

5.4 ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น และคู่สมรส

โดยให้เพิ่มเติมอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 3 สาขา คือ

(1) การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก

(2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ

(3) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน และให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติ (ผู้ได้รับสิทธิหลัก) ต้องไม่ทำงานต้องห้ามตามการกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. Smart Visa คือ วีซ่าประเภทพิเศษที่กำหนดให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S – curve) เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนที่จะมีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตอบสนองการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและนโยยายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่บุคลากรชาวไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เปิดให้บริการ Smart Visa ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ได้รับการยกเว้นการขอใบอนุญาตทำงาน รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit) คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะได้รับสิทธิในการพำนัก/การทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก

2. ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 – 30 กันยายน 2561 มีผลการดำเนินการเกี่ยวกับ Smart Visa สรุปได้ดังนี้

2.1 มีผู้ติดต่อขอข้อมูล Smart Visa ด้วยช่องทางต่าง ๆ รวม 1,078 ครั้ง เช่น ทางโทรศัพท์ จำนวน 461 ครั้ง ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 400 ครั้ง

2.2 มีผู้ยื่นขอรับรองคุณสมบัติ Smart Visa รวม 37 ราย เช่น สาขาดิจิทัล จำนวน 14 ราย สาขาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จำนวน 8 ราย

2.3 มีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิได้รับ Smart Visa แล้ว รวม 28 ราย เช่น สาขาดิจิทัล จำนวน 11 ราย สาขาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จำนวน 8 ราย

3. เพื่อเป็นการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการที่เกี่ยวกับ Smart Visa ให้สามารถตอบสนองนโยบายและเป้าประสงค์ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน และได้นำมาประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และสิทธิประโยชน์ ภายใต้การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

3.1 เพิ่มเติมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 สาขา นอกเหนือจาก 10 อุตสาหกรรม S – Curve ได้แก่

(1) การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก

(2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ

(3) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน

3.2 เพิ่มสิทธิและประโยชน์ สำหรับผู้ถือ Smart Visa ให้สามารถใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศทุกแห่งที่มีบริการช่องทางพิเศษได้

3.3 ปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขสำหรับ Smart Visa เช่น

(1) คุณสมบัติของ SMART “T” สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent) จากเดิมที่กำหนดเงินเดือน (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่น) ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/เดือน เป็น เงินได้ [ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1) และ (2)] เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาท/เดือน ในกรณีทั่วไป เพื่อสะท้อนอัตราเงินได้จริงของพนักงานระดับผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย และให้สามารถแข่งขันในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงจากต่างประเทศได้ และ

(2) ยกเลิกหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติ (ผู้ได้รับสิทธิหลัก) ต้องไม่ทำงานต้องห้าม ตามการกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่ได้รับการตรวจลงตามประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้คนต่างชาติข้างต้นสามารถทำงานทุกประเภทในราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องมีการอนุญาตทำงานตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว (คู่สมรสยังคงได้รับสิทธิทำงานได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้ามตามกฎหมายสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง ให้รวมถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย แต่จะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป)

ทั้งนี้ การปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขสำหรับ Smart Visa มีรายละเอียด ดังนี้

1. SMART “T” สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent)

หลักเกณฑ์เดิม / หลักเกณฑ์ที่เสนอ - เหตุผลที่ทบทวน

หลักเกณฑ์เดิม

1. เงินเดือน/รายได้ขั้นต่ำ

เงินเดือน (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่น) ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/เดือน

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • เงินได้ [ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) และ (2)] เฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 100,000 บาท/เดือน ในกรณีทั่วไป

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่อสะท้อนอัตราเงินได้จริงของพนักงานระดับผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย และให้สามารถแข่งขันในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงจากต่างประเทศได้ เนื่องจากประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ มีการกำหนดอัตราเงินได้หลายระดับสำหรับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแบบต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ต่ำกว่า 200,000 บาท/เดือน

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • เงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/เดือน ในกรณีผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้เชี่ยวชาญเกษียณอายุ

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการผลิตหรือให้บริการ สามารถใช้ประโยชน์จาก Smart Visa ได้

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • ไม่กำหนดเงินได้ขั้นต่ำ ในกรณีของผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ สถาบันอุดมศึกษา สถาบันฝึกอบรมเฉพาะทาง และบุคลากรด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา สถาบันการฝึกอบรมเฉพาะทาง และสถาบันอนุญาโตตุลาการในประเทศที่มีการใช้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในประเทศไทย

หลักเกณฑ์เดิม

2. ระยะเวลาขั้นต่ำของสัญญาจ้าง

สัญญาจ้างต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • ไม่กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของสัญญาจ้าง ในกรณีผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ และบุคลากรด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก

เหตุผลที่ทบทวน

  • ลักษณะการจ้างงานของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้อาจมีระยะสั้นกว่า 1 ปี และการดำเนินภารกิจของบุคลากรด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกไม่สามารถกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอนได้ล่วงหน้า

3. การรับรองความเชี่ยวชาญและการทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายหน่วยงานในเครือข่ายศูนย์บุคลากรทักษะสูง (Strategic Talent Center: STC) เป็นผู้รับรอง

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • ในกรณีของผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนั้น ๆ เป็นผู้รับรองความเชี่ยวชาญและการทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
  • ในกรณีบุคลากรด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก กำหนดให้สถาบันอนุญาโตตุลาการในประเทศ เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) เป็นผู้รับรองว่าเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและเข้ามาเพื่อให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกในประเทศไทย

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่อเป็นการลดภาระในการรับรองความเชี่ยวชาญของหน่วยงานเครือข่าย เนื่องจากหน่วยงานของรัฐที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมีข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณสมบัติความเชี่ยวชาญและเหตุผลความจำเป็นในการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญครบถ้วนอยู่แล้ว
  • สถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและรับผิดชอบภารกิจด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยตรง จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นหน่วยงานรับรอง

2. SMART “I” สำหรับนักลงทุน (Investor)

หลักเกณฑ์เดิม

  • จะต้องลงทุนโดยตรงในนามบุคคลไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตหรือให้บริการ

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • จะต้องลงทุนขั้นต่ำในกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

1. ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทในนามบุคคลในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ หรือในกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ

2. โดยตรงในนามบุคคลไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) ซึ่งได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบการลงทุนมากขึ้น
  • เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกิจการเงินร่วมลงทุนในประเทศ
  • ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศ (Startup ecosystem)

3. SMART “E” สำหรับผู้บริหารระดับสูง (Executive)

เงินเดือน/รายได้ขั้นต่ำ

หลักเกณฑ์เดิม

  • เงินเดือน (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่น) ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/เดือน

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • เงินได้ [ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) และ (2)] เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/เดือน

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาดกลางถึงขนาดย่อม ซึ่งอาจได้รับเงินเดือนไม่สูงมากนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

4. SMART “S” สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)

ระยะเวลาของวีซ่า

หลักเกณฑ์เดิม

  • ได้รับวีซ่าอายุ 1 ปี สำหรับการอนุมัติครั้งแรก และสามารถขยายได้คราวละ 2 ปี หากได้จัดตั้งกิจการในประเทศไทยภายใน 1 ปี

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • กำหนดอายุของวีซ่าเป็น 3 ระยะได้แก่ 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี โดยมีหลักเกณฑ์ต่างกัน

เหตุผลที่ทบทวน

เพื่อให้สามารถสนับสนุนทุกระยะของการพัฒนาของวิสาหกิจเริ่มต้น รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างครบวงจร เช่น กิจกรรมใน- ลักษณะ Startup Camp

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • ในกรณีที่คนต่างชาติได้จัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นที่เข้าหลักเกณฑ์แล้ว โดยไม่ได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) หรือโครงการอื่นในลักษณะเดียวกัน ก็ให้ได้รับ Smart Visa ระยะเวลา 2 ปีได้นับตั้งแต่คราวแรก

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่อลดภาระในการยื่นขยายระยะเวลาวีซ่าของ ผู้ถือ Smart “S” ซึ่งได้จัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศไทย และมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์แล้ว

หลักฐานทางการเงิน

หลักเกณฑ์เดิม

  • ในกรณีที่ต้องแสดงหลักฐานทางการเงิน กำหนดให้ต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาเหลือไม่น้อยกว่า 1 ปี

หลักเกณฑ์ที่เสนอ

  • ให้แสดงหลักฐานการถือครองจำนวนเงินฝากขั้นต่ำที่กำหนดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

เหตุผลที่ทบทวน

  • เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการพิจารณาหลักฐานทางการเงินของผู้ขอ ซึ่งอาจนิยมฝากเงินในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ