ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Monday November 26, 2018 16:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

3. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับความเห็นของกระทรวงการคลังและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการโดยหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการไว้โดยเฉพาะและมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการแก่ประชาชน หรือมีหลักประกันในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

2. เพิ่มบทนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” เพื่อให้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” เพื่อให้มีความชัดเจนครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภท

3. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบุคคลต่างด้าว โดยให้ยกเลิกนิยามคำว่า “คนต่างด้าว” และเปิดกว้างให้คนต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับคนสัญชาติไทยในการเข้าถึงข้อมูล มิใช่มีสิทธิเฉพาะตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงเท่านั้น

4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้โดยไม่ต้องร้องขอ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้

5. กำหนดวิธีการเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้

6. กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับคำขอให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงานเพื่อจัดวางระบบการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการและทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ และกำหนดมาตรการบังคับสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ

7. กำหนดหลักเกณฑ์ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เช่น การเข้าถึงและการใช้งานสารสนเทศ อุปกรณ์ ระบบ และสถานที่ การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

8. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยเพิ่มปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น ให้คำแนะนำปรึกษาในการดำเนินการใด ๆ ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อคุ้มครองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในระหว่างที่ตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง

9. กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ