ขอความเห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ

ข่าวการเมือง Monday November 26, 2018 17:05 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ พ.ศ. 2561 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ รวมทั้งให้กรุงเทพมหานครดำเนินการอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป ตามความเห็นของ สำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ให้สัมปทานแก่เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด รวมถึงการบริหารจัดการเดินรถ และได้รับสิทธิในการเก็บค่าโดยสารตลอดอายุสัมปทานเป็นเวลา 30 ปี (ครบกำหนดสัญญา พ.ศ. 2572) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ที่เสนอในครั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ (โดยช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ มีความพร้อม และจะเปิดให้บริการเดินรถ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ส่วนช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562) ดังนั้น เพื่อให้โครงการส่วนต่อขยายดังกล่าวเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงปริมณฑล โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิมที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จากเดิม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็น กรุงเทพมหานคร จะต้องมีการดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งการดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินจะทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 51,785.37 ล้านบาท (ประกอบด้วย ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินไม่เกิน 44,429 ล้านบาท และค่าชดใช้เงินค่าจัดกรรมสิทธิ์และดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเงินกู้ของค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว วงเงินไม่เกิน 7,356.37 ล้านบาท) ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ จำนวน 51,785.37 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ในครั้งนี้กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีในการกู้เงินจำนวนดังกล่าวต่อจากกระทรวงการคลังเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ

2. การที่กรุงเทพมหานครจะขอกู้เงินต่อจากกระทรวงการคลังเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ นั้น กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้ โดยการออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 97 และมาตรา 99 ที่บัญญัติให้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร (ซึ่งรวมถึงการกู้เงิน) จะตราขึ้นได้โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร ในการนี้ สภากรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2561

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ