1. รับทราบผลการประชุมสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership Plenary Assembly : GSP PA) ครั้งที่ 6
2. เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Center of Excellence for Soil Research in Asia : CESRA) และรางวัลวันดินโลก (World Soil Day Award)
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้ง 2 กิจกรรม ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมพัฒนาที่ดิน) ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งรองรับไว้ในโอกาสแรก หากไม่เพียงพอให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณหรือเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามนัยมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า
1. การประชุม GSP PA ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม GSP PA ครั้งที่ 6 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 – 13 มิถุนายน 2561 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการและประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือด้านดินแห่งเอเชีย (Asian Soil Partnership : ASP) ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. เห็นชอบการจัดตั้งรางวัลวันดินโลก หรือ World Soil Day Award ตามที่ประเทศไทยเสนอ เพื่อมอบรางวัลให้แก่บุคคล องค์กร และประเทศที่มีผลงานและกิจกรรมเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริมและการสร้างความตระหนักรู้ในด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน โดยผ่านทางการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดินโลก 5 ธันวาคม ของทุกปี โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ซึ่งรางวัลวันดินโลกดังกล่าวมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1.1 ชื่อรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award
1.2 วัตถุประสงค์
1) เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อถวายสดุดีพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการปัญหาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร และประชาชน ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ความั่นคงอาหารและการขจัดความอดอยากหิวโหย
2) กระตุ้นให้ทั่วโลกมีกิจกรรมด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงอาหารและการขจัดความอดอยากหิวโหย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ผ่านทางการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดินโลกของทุกปี
3) เสริมสร้างให้บุคคล หน่วยงาน องค์กรหรือประเทศมีความรู้ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรดินและการจัดการดิน เพื่อความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืน
1.3 รางวัล : สนับสนุนโดยประเทศไทย ประกอบด้วย เหรียญรางวัล เงินสด (15,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับรางวัลที่ประเทศไทย
1.4 กรรมการตัดสิน : ประกอบด้วย ประธานกลุ่มสมัชชาความร่วมมือดิน 9 ภูมิภาค ผู้แทนสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และผู้แทนคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์ของกลุ่มสมัชชาดินโลก
1.5 เกณฑ์การตัดสิน : ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่
1) ด้านการจัดกิจกรรม
2) ด้านการสร้างความตระหนัก
3) ด้านความพึงพอใจของผู้ร่วมงาน
4) ด้านการเผยแพร่กิจกรรม
5) ด้านการสร้างการรับรู้ในสื่อดิจิทัล และ
6) ด้านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ
2. เห็นชอบการริเริ่มการจัดตั้งศูนย์ CESRA ในประเทศไทย โดยกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว โดยศูนย์ CESPA จะเป็นศูนย์กลางข้อมูล การวิจัย และนวัตกรรมด้านทรัพยากรดินของภูมิภาคเอเชีย สนับสนุนการดำเนินการตามแนวปฏิบัติการจัดการดินอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย (Voluntary Guidelines on Sustainable Soil Management : VGSSM) นำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามกฎบัตรดินโลก (World Soil Charter) ที่กำหนดโย FAO ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ CESRA ดังกล่าวมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์
1) เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล การวิจัย และนวัตกรรมด้านทรัพยากรดินของภูมิภาคเอเชีย
2) เพื่อส่งเสริมงานวิจัยด้านทรัพยากรดินหลากหลายสาขา และสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดินในภูมิภาคเอเชีย
3) เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยด้านทรัพยากรดินของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย
4) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลด้านทรัพยากรของนักวิทยาศาสตร์ดินในภูมิภาคเอเชีย ที่สนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรดินแห่งเอเชียให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลทรัพยากรดินโลก5) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแนวปฏิบัติการจัดการดินอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย นำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามกฎบัตรดินโลกที่กำหนดโดย FAO
2.2 โครงสร้างการดำเนินงานของศูนย์ CESRA แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1) ส่วนงานข้อมูลทรัพยากรดินและการฝึกอบรม มีเป้าหมายและพันธกิจในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรดินแห่งเอเชียที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
2) กิจกรรมส่วนงานวิจัยและพัฒนาด้านทรัพยากรดิน มีเป้าหมายและพันธกิจในการส่งเสริมงานวิจัยดิน และศึกษาวิธีการในการจัดการดินอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย
2.3 ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ
1) เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิน และความร่วมมือด้านงานวิจัยดินของภูมิภาคเอเชีย
2) มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการประสานความร่วมมือในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชีย
3) มีข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐาน ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก
4) เพิ่มองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการจัดการดินอย่างยั่งยืน
5) ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานวิจัย หรือความร่วมมือต่าง ๆ ด้านทรัพยากรดิน
6) เพิ่มความเป็นไปได้ในการแสวงหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาคเอเชีย
1.2 การประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้อำนวยการใหญ่ FAO กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่สนับสนุนการดำเนินงานของ GSP และไทยมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านดินในระดับสากล และยินดีให้การสนับสนุนการมอบรางวัลวันดินโลก ในทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการสมัชชาความร่วมมือดินโลก (GSP Secretariat) ดำเนินการคัดเลือกและจัดทำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานของสหประชาชาติ
ผู้แทนไทยได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรดินและน้ำของ FAO เพื่อหาแนวทางการจัดทำโครงการประเมินความเสื่อมโทรมของดินและการขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง FAO และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมพัฒนาที่ดิน) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) โดยจะบูรณาการการทำเกษตรกรรมยั่งยืนภายใต้โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” และการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารภายใต้กรอบและแนวทางการทำงานของ GSP
2. การจัดกิจกรรมวันดินโลกปี 2561 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนทำให้ทั่วโลกประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพ เป็นที่มาของการประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเป็นวันดินโลก
2. เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน และดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการขจัดความหัวโหย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดให้มีกิจกรรมตลอดทั้งปี ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วน ได้แก่ นักวิชาการ ข้าราชการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ โดยมีกิจกรรมหลักได้แก่ การมอบรางวัล World Soil Day Award การจัดตั้งศูนย์ CESRA การจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการจัดการดินอย่างยั่งยืน เป็นต้น
3. การดำเนินกิจกรรมวันดินโลก การจัดตั้งรางวัลวันดินโลกและศูนย์ CESRA จะช่วยสนับสนุนบทบาทนำของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ 2 การขจัดความอดอยากหิวโหย เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 15 การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่การบรรลุผลในเป้าหมายและเป้าประสงค์อื่น ๆ
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชียเป็นการจัดตั้งหน่วยงานภายใต้ความรับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มิได้เป็นการขอจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ และ
การจัดตั้งรางวัลวันดินโลกเป็นการดำเนินการตามผลการประชุมสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก ครั้งที่ 6 ที่ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติในการดำเนินการจัดงานวันดินโลกทุกปี ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 กิจกรรมในปี 2561 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีรองรับไว้แล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561--