1. เห็นชอบร่างปฏิญญาอูบุด (Ubud Declaration) และร่างกรอบการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล (Framework on Digital Data Governance) ที่จะมีการรับรอบในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology Ministers Meeting : TELMIN) ครั้ง 18
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างปฏิญญาอูบุด และร่างกรอบการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้ ดศ. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
ดศ. รายงานว่า อินโดนีเซียกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม TELMIN ครั้งที่ 18 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology Senior Officials Meeting: TELSOM) ครั้งที่ 19 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 3 – 6 ธันวาคม 2561 ณ เมืองอูบุด สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยในการประชุม TELMIN ครั้งที่ 18 จะมีการรับรองเอกสารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิญญาอูบุด (Ubud Declaration) และร่างกรอบการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล (Framework on Digital Data Governance) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ร่างปฏิญญาอูบุด เน้นการตระหนักถึงประชาคมอาเซียนที่เติบโตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอาเซียนในทุกมิติครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อมุ่งสู่ระบบนิเวศทางดิจิทัลในอนาคตเพื่อความมั่งคั่งของอาเซียน ซึ่งจะครอบคลุมการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความสอดคล้องและสนับสนุนการรวมตัวด้านดิจิทัลในภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล บริการดิจิทัล เสริมสร้างความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างกันผ่านกรอบอาเซียน เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำกรอบการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาคุณสมบัติและทักษะวิชาชีพด้านไอซีที รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศในอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น
2. ร่างกรอบการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล เพื่อกำหนดแนวทาง หลักการ และข้อริเริ่มเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถนำไปกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล และเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก คือ (1) วงจรชีวิตข้อมูลและระบบนิเวศ ซึ่งประกอบด้วยหลักการคุณภาพและความสมบูรณ์ของข้อมูล การใช้และการเข้าถึงข้อมูลความมั่นคงปลอดภัย (2) การไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดน ประกอบด้วย หลักการข้อมูลข้ามพรมแดน และวิธีการของการไหลเวียนข้อมูลในอาเซียน (3) การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ประกอบด้วย หลักการพัฒนาศักยภาพ และการมีเวทีหารือของอาเซียนในเรื่องนวัตกรรมดิจิทัล และ (4) กฎหมายและกฎระเบียบ ประกอบด้วย หลักการกฎระเบียบ การคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนบุคคล ความรับผิดชอบ การนำแนวปฏิบัติที่ดีมาใช้
ทั้งนี้ กรอบการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัลจะไม่มีผลผูกพันและไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีภายใต้กฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด (ตามข้อ 34 ของเอกสารฯ) และจะมีการทบทวนกรอบดังกล่าวเป็นระยะ ๆ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากประเทศสมาชิกอาเซียน (ตามข้อ 37 ของเอกสาร)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561--