1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
3. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับการยกเว้นปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) ในการเสนอเรื่องนี้ และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการเสนอ เรื่อง การขอจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ต่อคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวง และ ก.พ.ร. แล้วแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
4. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. กำหนดให้ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องใดแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น เว้นแต่กฎหมายนั้นกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการด้วยมาตรฐานที่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
2. ให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะในขั้นตอนต่าง ๆ เผยแพร่ข้อมูลนโยบายสาธารณะให้ประชนทราบ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีที่นโยบายสาธารณะมีผลกระทบอย่างรุนแรง
3. กำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น หรือกำหนดมาตรการป้องกันความเสียหายจากนโยบายสาธารณะตามคำร้องขอของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย โดยคณะกรรมการอาจส่งผลการพิจารณาไปยังหน่วยงานเพื่อให้ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาดังกล่าว ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียนำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
4. ให้มีคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง กำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดขอบเขต ประเภท ชนิด และลักษณะของนโยบายสาธารณะ ที่อยู่ภายใต้บังคับของร่างพระราชบัญญัติ และเสนอแนะหน่วยงานของรัฐในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น
5. ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ อยู่ในสังกัด สปน. มีหน้าที่ เช่น รับผิดชอบงานด้านธุรการของคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ส่งเสริมหน่วยงานของรัฐในการให้ความรู้ประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ และรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ เป็นต้น
6. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำการใด ๆ เพื่อมิให้มีการดำเนินการ หรือทำให้การดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะไม่เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้ อาศัยกระบวนการนโยบายสาธารณะบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ
7. กำหนดให้โครงการของรัฐที่เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และได้เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวจนเสร็จสิ้นกระบวนการ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ธันวาคม 2561--