คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด) ตั้งแต่ปี 2548 และในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว มาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ จึงมีความจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานด้านผู้สูงอายุอยู่ในลำดับสำคัญและได้รับความสนใจให้มีการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง และมีการกำหนดประเด็นเร่งด่วนและผู้รับผิดชอบหลักในการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นองค์รวม โดยมีเป้าหมายหลักคือให้ผู้สูงอายุไทยเป็น Active Aging : Healthy Security, and Participation และเน้นการบูรณาการจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบให้ พม. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยในเบื้องต้น พม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนและจัดทำมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ เพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าว
3. มาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
สาระสำคัญ / รายละเอียด
วัตถุประสงค์
เพื่อขับเคลื่อนมาตรการฯ อย่างเป็นระบบ สร้างการบูรณาการการทำงานด้านผู้สูงอายุทั้งประเทศ ทั้งระดับนโยบาย หน่วยงาน และพื้นที่ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ
มาตรการขับเคลื่อน
2 มาตรการหลัก 10 มาตรการย่อย แบ่งเป็น
มาตรการหลักที่ 1 การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนทุกวัย 6 มาตรการย่อย
มาตรการหลักที่ 2 การยกระดับขีดความสามารถ สู่การบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 4 มาตรการย่อย
ระยะเวลาการขับเคลื่อน
3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564)
การติดตามและประเมินผล
หน่วยงานเจ้าภาพหลัก [พม. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)] ติดตามผลการดำเนินงานและรายงานผลทุกไตรมาส รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ พร้อมทั้งรายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
ประโยชน์ที่ได้รับ
ระดับหน่วยงาน มีความร่วมมือและบูรณาการการทำงานด้านผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงประเด็น และพื้นที่
ระดับสังคม ประชาชนมีความตระหนักและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ธันวาคม 2561--