ขออนุมัติดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1)

ข่าวการเมือง Tuesday December 4, 2018 19:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้

1. อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) มีกำหนดแผนงานโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2567) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการรวมทั้งสิ้น 3,440 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ กษ. (กรมชลประทาน) เสนออย่างเคร่งครัด ตามที่ กษ. เสนอ โดยให้ กษ. เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่มีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนและการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน รวมทั้งให้ดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้ กษ. รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

2. สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ กษ. โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายการประตูระบายน้ำกุดสวง โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 60 ล้านบาท และรายการประตูระบายน้ำห้วยเสียว โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 60 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรองรับไว้แล้ว ส่วนที่เหลือให้กรมชลประทานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความสามารถในการใช้จ่ายและการก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัดเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

3. ให้ กษ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการก่อสร้างของโครงการและพื้นที่บริเวณโดยรอบเกี่ยวกับประโยชน์ของการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกันด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กษ. แจ้งว่า เนื่องจากอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบนซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา ในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำหลากจากภูเขาไหลลงสู่พื้นที่ราบอย่างรวดเร็วตามสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดชันสูง และไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างเป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิที่มีลักษณะเป็นแอ่งจะถูกน้ำท่วมขังประมาณ 30,000 ไร่ หรือร้อยละ 90 ของพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ โดยเมื่อปี 2553 น้ำจากลุ่มน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่าได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ มีระดับน้ำท่วมสูงสุดประมาณ 120 เซนติเมตร กรมชลประทานจึงได้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่าเพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน (จากการศึกษาพบว่า น้ำที่ไหลผ่านเข้าตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิมีประมาณ 325 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่มีศักยภาพการระบายน้ำเพียง 145 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และสรุปแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

(1) การดำเนินการก่อสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันออก จำนวน 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คงเหลือปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมือง จำนวน 125 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

(2) การดำเนินการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่เพื่อชะลอมวลน้ำหลากให้อยู่ในปริมาณที่สามารถบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น

(3) การดำเนินการก่อสร้างระบบผันน้ำห้วยยางบ่า – ลำชีลอง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันตก และ

(4) การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลาก เพื่อรองรับการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลเสียหายจากการเป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากการผันน้ำเลี่ยงเมือง โดยกรมชลประทานมีแผนจะดำเนินการระยะที่ 1 ก่อน โดยได้ศึกษาวางโครงการและสำรวจ - ออกแบบแล้วเสร็จ และมีแผนเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2562 ส่วนการดำเนินการอีก 3 ระยะที่เหลือ อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม

2. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยโครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ประเด็น / สาระสำคัญ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อผันน้ำหลากส่วนเกินไม่ให้ท่วมเมืองชัยภูมิ

2. เพื่อผันน้ำจากลำปะทาวผ่านคลองผันน้ำส่งช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกบริเวณโครงการ

3. พัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

4. ใช้ถนนบนคันคลองเป็นเส้นทางสัญจรและลำเลียงผลผลิต

ที่ตั้งโครงการ

อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านเล่า ตำบลโพนทอง ตำบลกุดตุ้ม ตำบลบุ่งคล้า และตำบลหนองไผ่

กิจกรรมหลัก

1. คลองผันน้ำลำปะทาว - สระเทวดา ความยาว 8.45 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำ 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมประตูระบายน้ำ 3 แห่ง

2. ขุดคลองเชื่อมลำปะทาว – ห้วยดินแดง ความยาว 1.33 กิโลเมตรและปรับปรุงคลองเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ 50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมประตูระบายน้ำ 1 แห่ง

3. ประตูระบายน้ำในลำน้ำเดิม จำนวน 6 แห่ง

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2567)

งบประมาณที่ใช้

3,440 ล้านบาท [รวมค่าที่ดิน จำนวน 222.6 ล้านบาท (ค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน และค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน จำนวน 210.0 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายตามแผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโครงการ จำนวน 80.0 ล้านบาท]

การจัดหาที่ดิน

เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ 445 แปลง เนื้อที่ประมาณ 414 ไร่ ซึ่งภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว กรมชลประทานจะดำเนินการจัดหาที่ดินด้วยวิธีเจรจาซื้อขายเป็นลำดับแรก

ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ

1. ผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของราษฎร ประมาณ 414 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการแล้ว

2. ผลกระทบต่อระบบนิเวศ

  • โครงการฯ ไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
  • กรมชลประทานได้จัดทำแผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแผนงบประมาณเพื่อสนับสนุนแผนงานดังกล่าวให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ธันวาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ