แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565)

ข่าวการเมือง Tuesday December 25, 2018 18:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณและ การก่อหนี้ของหน่วยงานรัฐ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) มีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ ความเห็นชอบตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ โดยในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนที่มีความชัดเจนและกระจายตัวมากขึ้น ส่วนในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานและปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ จากปีก่อน ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามทิศทางการดำเนินนโยบายการค้า นโยบายการเงิน และนโยบายด้านต่างประเทศของประเทศสำคัญ ๆ สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางในปี 2563 – 2565 คาดว่าจะขยายตัวตามศักยภาพในช่วง ร้อยละ 3.5 – 4.5 เช่นเดียวกับปี 2562 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในขณะเดียวกันการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของอุปสงค์ภายในประเทศและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากช่วง ร้อยละ 1.5-2.5 ในปี 2564 มาอยู่ในช่วง ร้อยละ 2.0 – 3.0 ในปี 2565

2. สถานะและประมาณการการคลัง

             ปีงบประมาณ                                      2562         2563         2564         2565
             ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ                    2,550,000    2,750,000    2,773,000    2,886,000
             อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ)                              4.1          7.8          0.8          4.1
             กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย                   3,000,000    3,200,000    3,300,000    3,470,000
             อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ)                              3.4          6.7          3.1          5.2
             ดุลการคลัง                                   -450,000     -450,000     -527,000     -584,000
             ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ)                         -2.6         -2.4         -2.7         -2.8
             หนี้สาธารณะคงค้าง                            7,402,143    8,036,764    8,775,918    9,691,581
             หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ)                   43.3         44.4         45.7         47.4

ที่มา : กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ

3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และหากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้ ดังนั้น เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังในระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และการปรับอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อรายได้รวมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องควบคุมการขยายตัวของรายจ่ายในภาพรวม โดยเฉพาะรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนให้สูงขึ้น ด้วย โดยคณะกรรมการฯ ได้เสนอนโยบายและมาตรการระยะปานกลาง สรุปได้ ดังนี้

3.1 กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งรัดกฎหมายที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เช่น การปรับปรุงประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม เป็นต้น รวมถึงศึกษาแนวทางปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทั้งระบบ ทั้งในส่วนของรายได้ภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน ตลอดจนปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ติดตามการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี และปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และความเหมาะสมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

3.2 สำนักงบประมาณจะต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงาน และขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

3.3 รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการระดมทุนในรูปแบบใหม่สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อช่วยลดภาระการลงทุนจากงบประมาณ เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ธันวาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ