มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใน การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ระยะต่อไป

ข่าวการเมือง Tuesday December 25, 2018 18:38 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใน การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ระยะต่อไป

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในระยะแรก ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอ และเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้ดำเนินโครงการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในระยะแรก โดยจัดการอบรมเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และออกคูปองเพื่อซื้อขายเงินตราต่างประเทศสำหรับการทำธุรกรรมซื้อขายเงินต่างประเทศ FX Options วงเงิน 30,000 บาท เป้าหมาย 5,000 ราย แต่ผลการดำเนินการพบว่า มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ประกอบการบางส่วนเห็นว่า เงื่อนไขคุณสมบัติที่จะได้วงเงินเข้มงวดเกินไป รวมทั้งวงเงินไม่จูงใจ และผู้ประกอบการบางส่วนไม่จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยจะขยายการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านการเงินในด้านอื่น ๆ และปรับปรุงรายละเอียดโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

โดยโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ปรับปรุงใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้

รายละเอียดโครงการเดิม / รายละเอียดโครงการที่ปรับปรุงแก้ไข

1. คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ประกอบการส่งออก/นำเข้าที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี และเป็นสมาชิกของ สสว. โดยพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี เป็นลำดับแรก สำหรับผู้เข้าอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้มีอำนาจตัดสินเท่านั้น

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ประกอบการส่งออก/นำเข้าที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี และเป็นสมาชิกของ สสว. สำหรับผู้เข้าอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้มีอำนาจตัดสินเท่านั้น โดยผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้าอบรมได้ แต่ผู้ที่จะได้รับวงเงินต้องเข้าเงื่อนไขการได้วงเงิน ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการระยะแรกสามารถมีสิทธิ์ใช้วงเงินได้ แต่ต้องเข้ารับการอบรมและทำแบบประเมิน client suitability ใหม่

2. ลักษณะคูปองและเงื่อนไขการใช้

คูปองออกโดย สสว. ภายใต้วงเงิน 30,000 บาทต่อราย โดยที่คูปองดังกล่าวไม่สามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือ แลกเปลี่ยนหรือทอนเป็นเงินสดได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบาร SMEs สามารถใช้คูปองได้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ และใช้ได้จนกว่าจะครบวงเงินหรือหมดอายุ

คูปองออกโดย สสว. ภายใต้วงเงิน 50,000 บาทต่อราย โดยที่คูปองดังกล่าวไม่สามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือ แลกเปลี่ยนหรือทอนเป็นเงินสดได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้คูปองได้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ และใช้ได้จนกว่าจะครบวงเงินหรือหมดอายุ

3. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา

ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับอุดหนุนคูปองในโครงการเป็นจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากวงเงินคูปอง 30,000 บาทต่อราย และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 17,000 ราย โดยดำเนินการในระยะแรก 5,000 ราย ก่อน

ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับอุดหนุนคูปองในโครงการ เป็นจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากวงเงินคูปอง 50,000 บาทต่อราย โดยมีเป้าหมายการดำเนินการในระยะต่อไป 5,000 ราย เป็นค่าคูปอง 250 ล้านบาท และค่าจัดอบรม/ประชาสัมพันธ์ 10 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 260 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือนธันวาคม 2562

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ธันวาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ