1. เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 (1) กำหนดให้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลัก โดยร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการกำหนดนโยบายงบประมาณประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือการจัดการในกรณีที่ประมาณการรายได้สูงกว่าวงเงินงบประมาณ เมื่อได้ดำเนินการแล้วให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้ 4 หน่วยงานข้างต้น ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 8 มกราคม 2562 นั้น
1. วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
1.1 สมมติฐานทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ภาคการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายของโครงการลงทุนสำคัญที่มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 – 2564 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีการขยายตัวในเกณฑ์ดี สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
1.2 ประมาณการรายได้รัฐบาล
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,256,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีการส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,750,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8
1.3 นโยบายงบประมาณ วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจและประมาณการายได้รัฐบาลตามข้อ 1.1 และ ข้อ 1.2 ดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐสามารถขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564) แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยงานตามกฎหมาย จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 450,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7 โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังนี้
1) โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,358,410.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 85,754.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.7 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 75.8
(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0 ของวงเงินงบประมาณรวม
(3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 691,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 42,061.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.6 ของวงเงินงบประมาณรวม เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
(4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 87,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 9,474.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 ของวงเงินงบประมารรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 2.6
2) รายได้สุทธิ จำนวน 2,750,000 ล้านบาท
3) งบประมาณขาดดุล จำนวน 450,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 2.6
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีจำนวนและสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มกราคม 2562--