มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ

ข่าวการเมือง Tuesday January 8, 2019 18:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้

1. รับทราบมาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ

2. ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามข้อ 1 ไปพิจารณาดำเนินการ แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมผลการดำเนินการรายงานต่อคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการพิจารณาดำเนินการดังกล่าวให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

3. เห็นชอบแนวปฏิบัติในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1) ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่อง ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่วนราชการ/หน่วยงานที่สมควรเป็นเจ้าภาพหลัก/ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา แล้วแจ้งผลการดำเนินการ/ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

2) ให้ส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งผลการดำเนินการ/ความเห็นไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3) เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับแจ้งผลการดำเนินการ/ความเห็นจากส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเรื่องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมผลการดำเนินการ/ความเห็นต่าง ๆ ดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ต้องก่อนครบกำหนด 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช

มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะซึ่งเป็นมาตรการเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตและกระทำความผิดในกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาตรการฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

มาตรการ / สรุปสาระสำคัญ

1) มาตรการระยะเร่งด่วน

1.1) มาตรการทางการบริหาร ที่ควรดำเนินการเสร็จภายใน 6 เดือน เช่น

1) ป้ายโฆษณาทุกประเภทต้องมีเลขทะเบียนควบคุมเป็นระบบเดียว ซึ่งบ่งบอกหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตหรือกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการกำกับดูแล และจัดระเบียบ

2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสมสำหรับแจ้งเบาะแสป้ายโฆษณาหรือสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำทางสาธารณะหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีแนวทางการจัดการที่ชัดเจนและรายงานผลการดำเนินการภายหลัง

1.2) มาตรการทางกฎหมาย ที่ควรดำเนินการเสร็จภายใน 1 ปี เช่น

(1) กำหนดนิยามของคำว่าป้ายโฆษณาให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดลักษณะ รูปแบบ และขนาด ของป้ายโฆษณาให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการควบคุมดูแล

(2) กำหนดค่ามาตรฐานความเข้มของแสงบนป้ายโฆษณาที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และ

(3) ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตติดตั้งให้เหมาะสมกับปัจจุบัน

2) มาตรการระยะยาว

ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยควรจัดให้ความรู้ทางกฎหมายแก่สมาคมโฆษณา สมาคมคอนโดมิเนียม หรือสมาคมภาคธุรกิจเอกชนอื่น ๆ ที่มีความประสงค์จะติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และควรรณรงค์ให้เครือข่ายประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มกราคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ