เรื่อง ขออนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้างรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ กรณีที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รายการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ จังหวัดเชียงใหม่ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ จังหวัดเชียงใหม่ ของ มช. ในวงเงิน 1,209 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ 358.60 ล้านบาท และใช้เงินนอกงบประมาณสมทบ 850.40 ล้านบาท โดยเงินงบประมาณให้ มช. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป และให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า มช. ได้จัดทำรายละเอียดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 ของโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ จังหวัดเชียงใหม่ ของ มช. เรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของโครงการ
1.1 เพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
1.2 เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคเฉพาะทางในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และนานาชาติ
1.3 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในการบริการสุขภาพทางเลือกใหม่
1.4 เพื่อเป็นศูนย์เครื่องมือกลางรักษาโรคเฉพาะทางในเขตภาคเหนือตอนบน
1.5 เพื่อเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของบุคลากรทางการแพทย์
2. ประมาณการรายจ่ายและแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ แบ่งเป็นรายจ่ายประเภทต่าง ๆ ตามวิธีการเสนอของบประมาณ โดยจัดทำเป็นรายปี พร้อมยอดรวมของทุกปี รวม 1,209 ล้านบาท
3. ประโยชน์ที่จะได้รับ
3.1 เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยสามารถรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 400,000 ราย/ปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 30,000 ราย/ปี และผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูในระยะยาวเพิ่มขึ้น 2,000 ราย/ปี
3.2 เกิดศูนย์กลางในการรักษาโรคเฉพาะทางในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และนานาชาติ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อาทิ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์โรคทางสมอง ศูนย์โรคทางเดินอาหาร ศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ศูนย์ดูแลสุขภาพสตรีและเด็ก
3.3 ผลิตแพทย์เฉพาะทาง และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพเพิ่มขึ้น จำนวน 500 คน/ปี
3.4 บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย 2,500 คน/ปี
3.5 เกิดเครือข่ายการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
3.6 มีผลงานการศึกษาและวิจัยเพื่อรักษาสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการรักษาพยาบาล อย่างน้อย 50 ผลงาน/ปี
4. การดำเนินโครงการดังกล่าว จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าดังนี้
4.1 เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ให้สามารถแข่งขันในธุรกิจบริการสุขภาพกับนานาชาติ
4.2 เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับบริการสุขภาพที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
4.3 ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ในการบริการสุขภาพทางเลือก การท่องเที่ยวแบบพักอาศัยระยะยาว การให้บริการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีความต้องการได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
4.4 สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศ
4.5 เกิดศูนย์กลางในการรักษาโรคเฉพาะทางในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และนานาชาติ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
4.6 รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลกที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้องอาศัยการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น
4.7 ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และแพทย์เฉพาะทาง และได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะความรู้ความสามารถ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2562--