สรุปผลการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน

ข่าวการเมือง Tuesday January 15, 2019 17:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปผลการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น [เช่น กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงบประมาณ (สงป.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นต้น] ดำเนินการตามผลการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อให้การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ดังนี้

การดำเนินการ/หน่วยงานที่จะต้องดำเนินการ

1. พิจารณาปรับปรุง เพิ่มศักยภาพการจัดการภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับบุคลากรและเครื่องมือในการกู้ภัยให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้นในระดับสากล / มท. กห. หน่วยงานของรัฐ และเอกชน

2. ยกระดับความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้มีการฝึกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ เทคนิค วิทยาการ และเพิ่มพูนประสบการณ์ของหน่วยกู้ภัย และหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน / กห. กต. มท. สธ.

3. พัฒนาและบริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ตลอดจนสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน เพื่อการให้บริการระบบสื่อสารและโทรคมนาคมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในทุกสภาพพื้นที่ / ดศ. ร่วมกับ กสทช.

4. พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการภัยในภาวะฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษสำหรับการกู้ภัยและช่วยชีวิตผู้ประสบภัย ให้พร้อมรับสถานการณ์ภัยที่มีความซับซ้อนและมีลักษณะพิเศษเพิ่มมากขึ้น / สงป.

5. ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ในระบบบัญชาการเหตุการณ์เพื่อให้เกิดมาตรฐานการจัดการภาวะฉุกเฉินของประเทศ / ทุกหน่วยงานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติพ.ศ. 2558

6. กำหนดรูปแบบของแผนเผชิญเหตุพื้นที่เสี่ยงภัยในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้จังหวัดที่มีพื้นที่ดังกล่าวนำไปจัดทำเป็นแผนเผชิญเหตุในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ / กก. มท. ทส.

ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

1. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ได้เกิดเหตุนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช ทีม “หมูป่า” ทีน ทอล์คอะคาเดมี” รวม 13 คน พลัดหลงบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน องค์กรสาธารณกุศล ประชาชนจิตอาสา ตลอดจนหน่วยงาน อาสาสมัครชาวต่างชาติ ร่วมแรงร่วมใจเข้าทำการค้นหา และช่วยเหลือทั้ง 13 คน ออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 รวมระยะเวลา 18 วัน

2. มท. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ได้จัดเวทีถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) ในการให้ความช่วยเหลือผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งจากผลการดำเนินการจัดเวทีถอดบทเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย สรุปได้ ดังนี้

2.1 ผลการปฏิบัติที่ดี ปัญหาอุปสรรค และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์

1) ผลการปฏิบัติที่ดี : ผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานทุกคนมุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วยเหลือเด็กดังจะเห็นจากภารกิจการค้นหาและกู้ภัยทั้งภายในถ้ำและนอกถ้ำ และภารกิจการระบายน้ำและเบี่ยงเบนทางน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมซึ่งกันและกันจนนำไปสู่ความสำเร็จของการกู้ภัยในครั้งนี้

2) ปัญหาอุปสรรค : การขาดข้อมูล แผนผัง โครงสร้างของถ้ำที่ชัดเจน ตลอดจนขาดอุปกรณ์ เครื่องมือที่ตอบสนองต่อภารกิจกู้ภัยภายในถ้ำส่งผลต่อประสิทธิภาพในการประเมินสถานการณ์ในช่วงแรก แต่หลังจากที่มีการสนับสนุนเพิ่มเติมกำลัง ทรัพยากร ผู้ที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ เข้าไปสนับสนุนการจัดการ ตลอดจนผลจากการบูรณาการฝึกซ้อมตามภารกิจร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความคุ้นเคย ความคล่องตัว และความมั่นใจในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานตลอดจนผู้บริหารระดับสูงได้เป็นอย่างดี

3) สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ :

(1) การใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ประกอบการตัดสินใจ รวมถึงการมีที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันหารือกันโดยใช้หลักของเหตุและผล ส่งผลต่อการนำเสนอข้อมูลที่สามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ ทำให้การตัดสินใจแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยผู้มีอำนาจตัดสินใจในเหตุการณ์จะต้องเปิดกว้างรับข้อมูล ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินร่วมกัน

(2) การปฏิบัติงานที่สอดคล้องตามแผนและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ใช้ระบบโครงสร้างการจัดการในภาวะฉุกเฉินในการปฏิบัติงานร่วมกันที่มีส่วนปฏิบัติการ ส่วนอำนวยการ ส่วนสนับสนุนการประสานการปฏิบัติ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ จากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ อันนำไปสู่การปฏิบัติงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมปฏิบัติงาน และเกิดความคุ้มครองต่อผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย ส่งผลให้ทุกหน่วยงานปรับเปลี่ยนบทบาท หน้าที่ ให้เป็นไปตามภารกิจของโครงสร้างหลักในการจัดการเหตุการณ์

2.2 ข้อเสนอจากการถอดบทเรียน

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ได้เห็นการจัดตั้งระบบบัญชาการเหตุการณ์ มีการดำเนินการตามแผน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย(ผู้ว่าราชการจังหวัด) ตลอดจนการจัดผังโครงสร้างองค์กรเชื่อมโยงตามสายบังคับบัญชา (Chain of Command) ที่ค่อนข้างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม จากข้อคิดเห็นของผู้ที่เข้าร่วมปฏิบัติงานพบว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญ คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสาธารณภัยตามกฎหมายและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้ช่วงแรก ๆ ของเหตุการณ์ ผู้ปฏิบัติงานมีความสับสนในเรื่องระบบบัญาชาการเหตุการณ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการขาดทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนทรัพยากรกู้ภัยที่ไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และไม่ทันสมัย ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานควรมีการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องการจัดการสาธารณภัยในประเด็นการจัดการในภาวะฉุกเฉินเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างเป็นระบบ รวมทั้งปรับปรุงพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ วัสดุอุปกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การบูรณาการการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ดังนี้

การดำเนินการ / รายละเอียดการดำเนินการ

1. การสร้างมาตรฐานการจัดการในภาวะฉุกเฉิน

1.1 การขยายองค์ความรู้การจัดการภาวะฉุกเฉินในเรื่องระบบการบัญชาการเหตุการณ์ให้กับส่วนราชการ ทหาร พลเรือน เอกชน และอาสาสมัครให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะผู้บัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับจะต้องจัดตั้งศูนย์บัญชาการได้ทันท่วงทีและสามารถประสานงานกับทุกหน่วยงานในพื้นที่

(1) ยกระดับการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับโดยเน้นการฝึกฯ ระดับชาติในทุกไตรมาสร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ

(2) เพิ่มการอบรมที่เป็นมาตรฐานตามแนวทางของระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System : ICS) ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วนในทุกระดับ ตลอดจนการสร้างทีมสนับสนุนการจัดการเหตุการณ์ (Incident Management Assistant Team : IMAT) สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดได้ทันทีเมื่อเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่

1.2 การจัดทำแผนเผชิญเหตุในพื้นที่เสี่ยงภัย

จัดทำให้มีรูปแบบเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และสามารถประสานสอดคล้องกับแผนการปฏิบัติของหน่วยทหารในพื้นที่

2. การพัฒนาระบบ/เครื่องมือสนับสนุนการเผชิญเหตุ

2.1 เพิ่มการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อสร้างมาตรฐานบุคลากรในเรื่องการเผชิญเหตุการกู้ภัยในเหตุสาธารณภัยที่มีความซับซ้อน

ให้ดำเนินการร่วมกันระหว่างฝ่ายพลเรือน ทหาร ภาคเอกชนในระดับพื้นที่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือเครื่องจักรกล สาธารณภัยร่วมกันโดยเฉพาะหลักสูตรความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น หลักสูตรการฝึกการกู้ภัยทางน้ำ

2.2 การปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทรัพยากรกู้ภัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

  • ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการสาธารณภัย ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษเช่น ฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยทางน้ำ เป็นต้น
  • การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากร ระบบข้อมูลสารสนเทศ แผนที่ แผนผัง ระบบงานสารสนเทศข้อมูล และระบบงานด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS-Geographic Information System) ร่วมกัน เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลฯ เป็นปัจจุบันและครอบคลุมในทุกประเภทภัย

2.3 การจัดทำคู่มือ (Handbook) การเผชิญเหตุในภาวะฉุกเฉินจัดทำคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานฯ ที่เป็นมาตรฐานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558

2.4 การเสริมระบบการเตือนภัย

  • การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์
  • การติดตั้งเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนพร้อมแอพพลิเคชั่น
  • จัดให้มีชุดประจำที่และเคลื่อนที่ ณ จุดเสี่ยงภัย
  • การเสริมระบบการแจ้งข้อมูลเมื่อเข้าพื้นที่เสี่ยงภัย (Alert SMS) ที่สามารถแจ้งเตือนประชาชนที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือในพื้นที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่เสี่ยงภัยอื่น ๆ เช่น สึนามิ ดินโคลนถล่ม

2.5 ระบบการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน

การสื่อสารระบบดิจิตอล (National Mobile Broadband Network for Public Protection and Disaster Relief (PPDR)) ระบบการสื่อสารที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก ยานพาหนะบัญชาการเคลื่อน (Mobile Command Post) ที่สามารถเชื่อมต่อการสื่อสารกับระบบดาวเทียม ตลอดจนสมาร์ทโฟนและเครื่องวิทยุสื่อสารที่สามารถตั้งกลุ่มในการสนทนาได้ ทำให้ติดต่อสื่อสารกันได้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับระบบ Zello

2.6 การจัดหาทรัพยากรกู้ภัยที่เหมาะสมตามภารกิจ และสภาพพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ในการกู้ภัยของภาครัฐยังไม่ทันสมัยและไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ

  • จัดหาเครื่องสูบน้ำ ระบบสนับสนุนการระบายน้ำ ตัวอย่างจากภารกิจการระบายน้ำ อุปกรณ์ของส่วนราชการที่มีอยู่ส่วนใหญ่ เช่น เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำขนาดต่าง ๆ ที่นำมาใช้ที่ถ้ำหลวง เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นหลัก ไม่เหมาะสมกับการใช้สูบน้ำในพื้นที่แคบและเกิดมลพิษระหว่างการใช้งานเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ประสบภัย จึงควรพิจารณาจัดหาเครื่องสูบน้ำในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นระบบไฟฟ้าทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง มาเตรียมความพร้อมไว้
  • จัดหาเครื่องมือในการกู้ภัยทั้งทางบกและทางน้ำ ตามมาตรฐานสากล เช่น ชุดอุปกรณ์สำหรับการดำน้ำในถ้ำ ระบบการตรวจวัดปริมาณน้ำไหลเข้าและระบายน้ำออกบริเวณถ้ำ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่น ๆ

ทั้งนี้ จากผลการถอดบทเรียนดังกล่าว มท. จึงขอให้ส่วนราชที่เกี่ยวข้อง เช่น กห. กต. กก. ทส. ดศ. สธ. ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไทยตามผลการถอดบทเรียนดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ