คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องการติดตามและประเมินผล การดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ให้ ดศ. จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการ นร.) เพื่อติดตามและประเมินผลโครงการเน็ตประชารัฐที่มีข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพสัญญาณและการเข้าถึงการใช้งาน โดยมีการดำเนินการดังนี้
1. การหารือแนวทางการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและการเพิ่ม ประสิทธิภาพโครงการเน็ตประชารัฐ ดศ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้ตรวจราชการ นร. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 พบว่า ประเด็นการร้องเรียนมีหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตของโครงการเน็ตประชารัฐไม่ชัดเจนและบางส่วนต้องการจุดติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพิ่มซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของโครงการหรืออยู่นอกพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำวีดิทัศน์และสื่อนำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐแล้ว เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 มีปลัด ดศ. เป็นประธาน หัวหน้าผู้ตรวจราชการ นร. รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน
2. การประชุมคณะทำงานร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน โครงการเน็ตประชารัฐ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
2.1 ภาพรวมการดำเนินการ มีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้งาน Wi-Fi เน็ตประชารัฐแล้วจำนวนกว่า 4.05 ล้านคน รวมทั้งรัฐบาลได้เปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐในรูปแบบโครงข่ายแบบเปิด (Open Acceess Network) เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตไปยังบ้านเรือนของประชาชนได้ในราคาถูก โดยมีผู้ประกอบการยื่นความประสงค์ขอเชื่อมต่อโครงข่ายแล้ว 8 ราย และ ดศ. อยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ยังมีระบบการบริหารจัดการโครงข่ายเน็ตประชารัฐซึ่งสามารถตรวจสอบจำนวนการใช้งานและจุดที่อุปกรณ์เสียหายได้ โดย คศ. จะจัดทำบัญชีเข้าใช้งาน (account) ให้กับผู้ตรวจราชการ นร. และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อให้สามารถเข้าระบบตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน
2.2 ประเด็นร้องเรียนจากประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแนะนำการใช้งาน การขอติดตั้งเน็ตประชารัฐในหมู่บ้านที่อยู่นอกโครงการ การขอย้ายจุดติดตั้ง และการขอเพิ่มจำนวนจุดติดตั้งมากกว่า 1 จุด โดยประเด็นร้องเรียนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสัญญาณการใช้งานมีน้อยมาก ในการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐของ ดศ. จำนวน 24,700 หมู่บ้าน มีความแตกต่างกับโครงการเน็ตประชารัฐและเน็ตชายขอบที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) รับผิดชอบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยอาจเข้าใจว่าเป็นความรับผิดชอบของ ดศ. ทั้งหมด
2.3 แนวทางการดำเนินการของคณะทำงานฯ ประกอบด้วย
2.3.1 ติดตามการให้บริการเน็ตประชารัฐ รวมทั้งเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) หมายเลขโทรศัพท์ 1111 กด 88 และ 2) แอปพลิเคชันเน็ตอาสาประชารัฐ
2.3.2 ประเมินผลการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ โดยการลงพื้นที่ ทั้งหมด 5 ภาค ภาคละ 1 ครั้ง รวมทั้งประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อรับฟังผลการดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรค
2.3.3 รายงานสรุปความก้าวหน้าผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นรายเดือน
3. การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ ครั้งที่ 1 (ภาคเหนือ) ณ จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เมื่อวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561 พร้อมทั้ง ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2/2561 โดยได้ลงพื้นที่หมู่บ้านเน็ตประชารัฐของ ดศ. จำนวน 3 หมู่บ้าน และจุดติดตั้งโครงการเน็ตชายขอบของสำนักงาน กสทช. จำนวน 2 จุด พบว่า
3.1 ประชาชนมีความพึงพอใจต่อโครงการเน็ตประชารัฐและบริการ Wi-Fi โดยใช้ประโยชน์ในการค้าขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นออนไลน์ ใช้เป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารและติดต่อสื่อสารของคนในหมู่บ้าน รวมทั้งเด็กและเยาวชนใช้ในการค้นหาข้อมูลในการทำรายงาน ทั้งนี้ ไม่พบปัญหาด้านประสิทธิภาพการใช้งาน
3.2 โครงการเน็ตชายขอบในพื้นที่ตรวจเยี่ยม 2 จุด ซึ่งเป็นจุดบริการ อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และบริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่เปิดให้บริการ อย่างไรก็ตามพบว่ามีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการรายอื่นเข้าถึงแล้ว และโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ตั้งอาคาร USO Net มีโครงข่าย Fiber Optic เข้าถึง และมีผู้ให้บริการรายอื่นให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วเช่นกัน
3.3 ประชาชนบางส่วนมีความเข้าใจไม่ชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขต การให้บริการเน็ตประชารัฐ ดังนั้น จึงควรมีการทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
3.4 ในบางพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าทำให้ไม่สามารถติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ ดังนั้น จึงควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อน
3.5 ควรเตรียมการออกแบบการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐกับโครงข่ายภาครัฐอื่น ๆ เพื่อให้บริการประชาชนและหน่วยงานราชการ เช่น โรงเรียนและโรงพยาบาล ในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ดศ. ได้จัดให้มีกลไกการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์และต่อยอดเน็ตประชารัฐผ่านคณะทำงานขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้ในจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนด้วย ทั้งนี้ คณะทำงานฯ กำหนดจะลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์
4. การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการนำอินเทอร์เน็ตไปใช้ประโยชน์ มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การจัดทำคู่มือสำหรับฝึกอบรมครู กศน. ให้เป็นวิทยากรแกนนำ การสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้นำชุมชนและการอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ ได้มีการสร้างเครือข่าย “เน็ตอาสาประชารัฐ” โดยการพัฒนาบุคลากรหมู่บ้านเป้าหมายและผู้สนใจทั่วไปให้เป็นเครือข่ายการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลการใช้งาน ปัญหา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2562--