ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561

ข่าวการเมือง Tuesday January 15, 2019 17:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ตามที่เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 โดยมีนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานการประชุม ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. เรื่องเสนอเพื่อทราบ 2 เรื่อง ได้แก่

1.1 รายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย

(1) คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2557 - 2561 มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และผลความก้าวหน้าการติดตามการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และข้อสั่งการของประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ได้พัฒนาระบบประปาหมู่บ้านจากเป้าหมาย 7,490 แห่ง แล้วเสร็จจำนวน 7,291 แห่ง โดยดำเนินการเสร็จแล้วในปี 2561 จำนวน 57 หมู่บ้าน ปี 2562 จะดำเนินในส่วนคงเหลือ จำนวน 170 หมู่บ้าน ส่วนการขยายเขตประปาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจให้การประปาส่วนภูมิภาคดำเนินการจัดทำแผนจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำรองด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตตามเป้าหมายของแผนจากพื้นที่ชลประทาน 8.70 ล้านไร่/ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยดำเนินการตามเป้าหมาย ทำให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 2.53 ล้านไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1,483 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ได้แก่ เรื่องการถ่ายโอนภารกิจฯ ด้านแหล่งน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเข้าไปปรับปรุงแหล่งน้ำที่ถ่ายโอนของหน่วยงานที่เข้าดำเนินการ และเรื่องการขอใช้พื้นที่ป่า ได้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพิ่มขึ้น แต่ยังมีกลุ่มโครงการที่ติดค้างมากที่สุด ในขั้นตอนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม คงค้าง 34 โครงการ ค้างที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ (กรมชลประทาน) จำนวน 30 โครงการ และรอเข้าวาระการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 4 โครงการ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้วางระบบการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เมือง พื้นที่เศรษฐกิจ 69 แห่ง ปรับปรุงทางน้ำ 291 กิโลเมตร ในจำนวน 50 ร่องน้ำ วางระบบป้องกันบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วมเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในโครงการขนาดใหญ่ 3 โครงการ และการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 111 แห่ง ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 โดยปัจจุบัน คงเหลืออยู่ในแผนของกรมชลประทานที่จะดำเนินการโดยใช้งบประมาณปี 2562 จำนวน 11 แห่ง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียได้ 58 แห่ง และควบคุมน้ำเค็ม 6 ลุ่มน้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมแล้ว 450 แห่ง พื้นที่ 0.49 ล้านไร่ และการฟื้นฟูเขาหัวโล้นจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ 5 มี 5 หน่วยงานมาร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมบูรณาการการดำเนินงานปลูกฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว 318,638 ไร่

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. …. การปรับปรุง (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ร่าง) พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....

มติที่ประชุม รับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2557 - 2561) และการประเมินผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของหน่วยงานภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

ประธาน กนช. มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

(1) การจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค มอบกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดหาน้ำอุปโภคบริโภค ให้ครบทั้ง 170 หมู่บ้าน ภายในปี 2562 โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณต่อไป

(2) การสร้างความมั่นคงของน้ำเพื่อการผลิต เพื่อให้ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมมีแหล่งน้ำต้นทุนในการจัดการอย่างสมดุล ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการโดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และมอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อำนวยการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลต่อไป

(3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและอุทกภัย มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยเชิงพื้นที่ และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งมอบกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการปรับตัวหนีภัยน้ำท่วม

(4) การจัดการคุณภาพน้ำ มอบกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน และมอบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางแผนบูรณาการระบบการจัดการน้ำเสีย

(5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าฯ มอบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและภาคเอกชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำในการวางแผนและกำหนดเจ้าภาพในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน รวมทั้งมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูเรื่องเขาหัวโล้น ในการปลูกต้นไม้เสริม เพื่อลดการพังทลายของดิน ที่เป็นต้นไม้ที่โตเร็วและยืนต้น ปลูกใกล้ในพื้นที่ที่มีน้ำและชุมชนเพื่อจะได้ช่วยกันดูแล

(6) การบริหารจัดการ มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ในการรวบรวมงานศึกษาวิจัย นวัตกรรม และเชื่อมโยงข้อมูลกลางในระดับลุ่มน้ำ การบริหารจัดการลุ่มน้ำ กฎหมายลำดับรองให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วย เพราะน้ำมีคุณค่าต่อชีวิตประจำวัน “น้ำคือชีวิต”

(2) คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง วิเคราะห์โครงการ และติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สรุปการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงานบูรณาการบริหารจัดการน้ำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบประมาณจำนวน 61,225.2699 ล้านบาท ปรับลดตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ จำนวน 815.4518 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณจัดสรรถือจ่ายสุทธิ จำนวน 60,409.8181 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานเสนอขอปรับแผนและโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จำนวน 9 หน่วยงาน วงเงินรวม 8,084.0739 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของงบประมาณจัดสรรถือจ่ายสุทธิ โดยเป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีสัญจรและตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในการลงตรวจราชการในพื้นที่ จำนวน 24 โครงการ วงเงิน 645.2742 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายรวม จำนวน 44,528.1706 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.71 คงเหลือยังไม่เบิกจ่ายจำนวน 15,881.6475 ล้านบาท จำแนกเป็นเงินที่ก่อหนี้ผูกพันแล้วจำนวน 11,077.1165 ล้านบาท และที่ไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน/เหลือจ่าย จำนวน 4,804.5310 ล้านบาท โดยมีมาตรการที่สำคัญ คือ การปรับแผนงานต้องแสดงตัวชี้วัดและผลสัมฤทธิ์ที่ขับเคลื่อน เป้าหมายของแผนงานบูรณาการและนโยบายรัฐบาลเป็นอันดับแรก โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และได้รับความเห็นชอบจากรองนายกรัฐมนตรีกำกับแผน แล้วส่งรายละเอียดให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประมวลผลและรายงานต่อไป ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการฯ ได้เสนอมาตรการป้องกันปัญหาอุปสรรคความล่าช้าของการดำเนินงานและการปรับแผนงบประมาณที่ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ

มติที่ประชุม รับทราบผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 การปรับแผนการปฏิบัติงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ และขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข

ประธาน กนช. มีข้อสั่งการเพิ่มเติม โดยมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยดำเนินการกำกับตามมาตรการป้องกันปัญหาอุปสรรคความล่าช้าของการดำเนินงานปรับแผนงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป

(3) คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีการประเมินสถานการณ์น้ำในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา และสถานการณ์ปัจจุบันเกิดอุทกภัยทางภาคใต้ จำนวน 2 ครั้งที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดนราธิวาส หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือด้านการขนย้ายสิ่งของ และสนับสนุนเครื่องจักรกล และได้คาดการณ์สภาพฝน ในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2562 ว่าปริมาณฝนภาพรวมทุกภาคมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ จึงได้เตรียมการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2561/62 โดยการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 จำนวน 30,145 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำรองน้ำไว้ช่วงต้นฤดูฝน ปี 2562 จำนวน 13,760 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 9 จังหวัด นอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค 20 จังหวัด

มติที่ประชุม รับทราบการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาในปี 2561 และการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2561/2562

ประธาน กนช. มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

(1) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากในภาคใต้และแจ้งเตือนประชาชนโดยเร็ว

(2) มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการที่กำหนดไว้ หากเกิดวิกฤตภัยแล้ง

(3) มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน

(4) พื้นที่ที่มีปัญหาน้ำแล้งหรือน้ำท่วมซ้ำซากเหมือนเดิมทุกปี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จอย่างเร่งด่วน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่ การย้ายชุมชนเมือง การเปลี่ยนชนิดพืชพันธุ์เพาะปลูก โดยการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน

(4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ความก้าวหน้าโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่ผ่านมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จำนวน 13 โครงการ โดยเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเปิดโครงการและกรอบวงเงินของกรมชลประทาน จำนวน 6 โครงการ และอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเปิดโครงการและกรอบวงเงิน จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย กรมชลประทาน จำนวน 4 โครงการ กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 โครงการ และกรมแผนที่ทหาร จำนวน 1 โครงการ

มติที่ประชุม รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญในการติดตามความก้าวหน้าโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่ผ่านมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จำนวน 13 โครงการ

ประธาน กนช. มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง พิจารณางบประมาณอย่างรอบครอบ ไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมโครงการให้ครบถ้วนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต่อไป

1.2 ความก้าวหน้าแผนงานโครงการที่เสนอในคณะรัฐมนตรีสัญจร และงานนโยบายที่นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้รวบรวมแผนงานโครงการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี และมติการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร นอกสถานที่ที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรน้ำ จำนวน 18 ครั้ง ได้ 782 โครงการ เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณแล้ว จำนวน 308 โครงการ วงเงิน 12,710 ล้านบาท อยู่ในแผนงานปี 2563 - 2564 จำนวน 400 โครงการ วงเงิน 11,667 ล้านบาท และอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม/เตรียมความพร้อม จำนวน 74 โครงการ

มติที่ประชุม รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน แผนงานโครงการที่เสนอในคณะรัฐมนตรีสัญจร และงานนโยบาย ที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่

ประธาน กนช. สั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

1. มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อำนวยการ ติดตามร่วมกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมนำเข้าแผนงานต่อไป

2. มอบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเรื่องการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

2. เรื่องเพื่อพิจารณา 4 เรื่อง ได้แก่

2.1 แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 2 โครงการ มี 2 หน่วยงานเสนอโครงการ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร และกรมชลประทาน ดังนี้

(1) กรุงเทพมหานคร เสนอขอความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม บรรเทาน้ำหลากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีวงเงิน 9,800 ล้านบาท และระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2563 - 2569 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณแจ้งผลการพิจารณาสัดส่วนงบประมาณ เป็นงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล 70% และงบประมาณของกรุงเทพมหานคร 30%

ประธาน กนช. สั่งการเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มีประโยชน์สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เร่งดำเนินการโครงการในปี 2562 และพร้อมทั้งให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่อไป

มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการ และให้กรุงเทพมหานครนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณ และเร่งดำเนินการโครงการในปี 2562 พร้อมทั้งให้สำนักงบประมาณดำเนินการพิจารณางบประมาณต่อไป

(2) กรมชลประทาน เสนอขอความเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัยและเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยมีวงเงิน 2,875 ล้านบาท และระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2563 - 2567

ประธาน กนช. สั่งการเพิ่มเติมว่า เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ให้เร่งดำเนินการโครงการในปี 2562 และให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่อไป

มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการและให้กรมชลประทาน นำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการและกรอบงบประมาณ และเร่งดำเนินการโครงการในปี 2562 พร้อมทั้งให้สำนักงบประมาณดำเนินการพิจารณางบประมาณต่อไป

2.2 (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้เสนอการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558 – 2569) โดยเปลี่ยนชื่อเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (แผนระดับ 3) และได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นระบบเส้นทางน้ำ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (น้ำชุมชน) โดยปรับปรุงกลยุทธ์เป็น 28 กลยุทธ์ 54 แผนงาน ทั้งได้วิเคราะห์การแก้ไขพื้นที่ Area based (น้ำแล้งและน้ำท่วม) 66 พื้นที่อย่างเป็นระบบ และการปรับตัวชี้วัดให้ถึงระดับผลลัพธ์ (outcome) พร้อมทั้งให้มีหน่วยขับเคลื่อนระดับกระทรวง

มติที่ประชุม

1. เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามกลยุทธ์/แผนงาน เพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับ และติดตามประเมินผล

2. หากมีการปรับปรุง (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มอบให้คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณาปรับแก้ไขให้ให้สอดคล้องต่อไป

2.3 หลักเกณฑ์และแนวทาง การจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง วิเคราะห์โครงการ และติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้ประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์แยกตามแผนงาน ได้แก่ (1) แผนงานตามภารกิจพื้นฐาน (FUNCTION) (2) แผนงานตามภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ (AGENDA) (3) แผนงานตามภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (AREA) และการกำหนดขั้นตอนการเสนอแผนงานเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้ง มีการกำหนดกรอบระยะเวลาและแนวทางการดำเนินการในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้แผนปฏิบัติการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำได้ และเพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มติที่ประชุม

1. เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

2. มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ บูรณาการดำเนินการพิจารณาแผนงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

3. มอบคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามที่หน่วยงานเสนอ แล้วเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพื่อทราบต่อไป

2.4 การทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำประธานให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม ตามข้อกำหนดใน (ร่าง) พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. มาตรา 25 โดยใช้หลักการพิจารณา ได้แก่ จุดออกของลุ่มน้ำ สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ วัฒนธรรมองค์กร การแบ่งเขตการปกครอง การใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ควรอยู่ต่างภูมิภาค การบริหารจัดการน้ำควรมีจำนวนไม่มากเกินความจำเป็นและสามารถนำมาใช้ร่วมกับลุ่มน้ำสาขาย่อย ที่จะทำให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งผลของการทบทวนแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำจากเดิม 25 ลุ่มน้ำหลัก 254 ลุ่มน้ำสาขา เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา โดยใช้แผนที่มาตราส่วน 1 : 4,000 มีภาคที่มีการยุบรวมลุ่มน้ำ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ สำหรับภาคกลาง และภาคอีสาน ยังคงลุ่มน้ำเดิม

ข้อสังเกตของที่ประชุม การแบ่งขอบเขตลุ่มน้ำต้องคำนึงถึงผลกระทบในแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินงานในชื่อลุ่มน้ำเดิมด้วย

มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตลุ่มน้ำ ตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... มาตรา 25 และดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตจากที่ประชุมพิจารณาต่อไปด้วย

3. เรื่องอื่น ๆ 3 เรื่อง ได้แก่

3.1 การขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ตามผลการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี นำมาสู่การวิเคราะห์ขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้สอดคล้องและบรรลุเป้าหมายของ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้นำผลของการกำหนดพื้นที่เป้าหมายมาเป็นกรอบในการพิจารณาโครงการสำคัญ คือ (1) พื้นที่เป้าหมาย (Area based) จำนวน 66 พื้นที่ (2) พื้นที่ที่มีความสำคัญ คือ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่เสี่ยงน้ำแล้ง และพื้นที่สนับสนุนเขตเศรษฐกิจ (3) แผนงานโครงการที่มีศักยภาพเริ่มดำเนินการได้ ภายในปี 2563 - 2565 จำนวน 408 โครงการ วงเงิน 831,701 ล้านบาท (4) แผนงานโครงการที่มีความพร้อม ด้านแบบสิ่งแวดล้อมและด้านมวลชน สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในปี 2563 รวม 66 แห่ง วงเงิน 39,904 ล้านบาท สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในปี 2564 รวม 97 แห่ง วงเงิน 281,167 ล้านบาท และสามารถเร่งรัดดำเนินการได้ปี 2565 เป็นต้นไป รวม 245 แห่ง วงเงิน 510,630 ล้านบาท

สำหรับความต้องการงบประมาณปี 2563 วงเงินงบประมาณรวม 103,816 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) งานตามภารกิจของหน่วยงาน ปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท (2) งบประมาณจากรายการผูกพันงบประมาณข้ามปีและรายการต่อเนื่อง วงเงินงบประมาณ 56,166.2435 ล้านบาท (3) งานตามนโยบายจากคณะรัฐมนตรีสัญจร นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ วงเงินงบประมาณ 10,804.2657 ล้านบาท และ (4) แผนงานโครงการสำคัญเปิดใหม่ปี 2563 ประกอบด้วย โครงการขนาดใหญ่ วงเงินงบประมาณ 2,194.0051 ล้านบาท และโครงการขนาดกลาง วงเงินงบประมาณ 4,655.8000 ล้านบาท

มติที่ประชุม เห็นชอบโดย

1. มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ สถานภาพความพร้อม เพื่อให้ขับเคลื่อนแผนงานโครงการ สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับ บูรณาการขับเคลื่อน

2. มอบสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาความสำคัญของโครงการและแหล่งเงินที่เหมาะสมต่อไป

3.2 การมอบหมายผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบให้เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่งตั้งข้าราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ ปฏิบัติงานในพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ บรรลุตาม (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และให้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

มติที่ประชุม เห็นชอบตามที่เสนอ และมอบเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ

3.3 แผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำ ค.ศ. 2018-2022 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Five-years Action Plan for Mekong-Lancang Water Resources Cooperation) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2561 - 2565) ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมโครงการและการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศสมาชิก โดยพิจารณากำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ สาขาการดำเนินงาน กิจกรรมโครงการ การจัดโครงสร้างการดำเนินงาน และงบประมาณ รวมถึงพิจารณาแนวทางการนำแผนปฏิบัติการ 5 ปี มาดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยสาระสำคัญในการจัดทำ ได้กำหนด 1) บทบาทของประเทศสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ บทบาทนำของประเทศสมาชิกในแต่ละสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสิ้น 6 สาขา/6ประเทศ 2) แนวทางการดำเนินงาน 3) เงินทุนและการจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเสนอประเทศสมาชิก ทำหน้าที่บทบาทนำ (Lead Country) ในสาขาความร่วมมือเรียงตามลำดับ ได้แก่ (1) สาขาที่ 2 ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) สาขาที่ 6 ด้านความร่วมมือแม่น้ำข้ามพรมแดนและการแลกเปลี่ยนข้อมูล (3) สาขาที่ 1 ด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประธาน กนช. สั่งการเพิ่มเติม ให้พิจารณาให้ครอบคลุมทุกด้าน และสร้างการรับรู้กับประชาชนให้ทั่วถึง

มติที่ประชุม รับทราบ

1. การจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2561 - 2565) ซึ่งมีสาระสำคัญและขอบเขตการดำเนินความร่วมมือเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (พ.ศ. 2561 - 2565) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการประชุม เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561

2. การเลือกสาขาความร่วมมือ ซึ่งไทยจะเสนอประเทศสมาชิกทำหน้าที่บทบาทผู้นำ (Lead Country)

3. มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นเจ้าภาพและดำเนินการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ